นางอารดา เฟื่องทอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนดยุทธศาสตร์รุกตลาดเดิม เปิดเพิ่มตลาดใหม่ และขยายการส่งออกสินค้าไทยสู่ตลาดโลก เพื่อขับเคลื่อนการส่งออกไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน พร้อมทั้งการสร้างจุดแข็งให้สินค้าและบริการไทยด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยี และการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในบริบทด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งเป็นความท้าทายที่ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์การค้าในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 และเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ที่ยังมีช่องทางขยายโอกาสทางการค้าได้อีกมาก
"จีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และแข่งขันสูง ผู้ส่งออกจำเป็นต้องรู้ข้อมูลเชิงลึก เพื่อปรับตัวให้ทันกับการค้ายุคใหม่" รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าว
ทั้งนี้ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (สถาบัน NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จัดงานเสวนา "เปิดประตูแดนมังกร : โอกาสสินค้าและบริการไทย" เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ภาพรวมเศรษฐกิจจีน โอกาสและความท้าทายของตลาดจีน ผ่านมณฑลยูนนาน ในฐานะประตูสู่แดนมังกร การส่งออกในรูปแบบการค้าปกติ และการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนในตลาดโลก (Cross-border e-Commerce) เส้นทางการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางธุรกิจ และข้อแนะนำจากภาคเอกชน ตลอดจนการเผยแพร่บทบาท ยุทธศาสตร์ และกิจกรรมของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ที่เป็นประโยชน์ด้านการส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทย
นางอารดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2565 จีนยังคงเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง และเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 2 ของไทย การค้ารวมระหว่างไทย-จีน มีมูลค่า 105,211.93 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 1.34% โดยเป็นการส่งออก 34,400.77 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้า 70,811.16 ล้านเหรียญสหรัฐ
สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปยังจีน 5 อันดับแรก ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและอบแห้ง ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ
โดยปัจจุบัน ผู้บริโภคจีนให้ความสำคัญกับสินค้าที่มีคุณภาพ นวัตกรรม และรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการไทยที่จะต้องปรับตัว เพื่อรักษาตลาดและขยายธุรกิจเพิ่มเติมในจีน