นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก กล่าวว่า สถานการณ์การส่งออกของไทยปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทั้งจีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป แต่หากเปรียบเทียบกับประเทศที่เป็นผู้ส่งออกแล้วจะเห็นว่าการส่งออกของไทยนั้นปรับตัวลดลงน้อยกว่า และการส่งออกของไทยในปีนี้คงไม่เป็นไปตามที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ แม้จะมีความพยายามที่จะผลักดันก็ตาม
ทั้งนี้ จากการประเมินในเบื้องต้น สรท.จึงปรับเป้าส่งออกในปีนี้จาก -0.5% ถึง 1% มาเป็น -1% ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์เป็นรายเดือน เมื่อถึงเดือน พ.ย.-ธ.ค.66 จึงจะสามารถประเมินเป้าหมายในปี 67 ได้
"ปีนี้ติดลบแน่นอน อาจจะ -1% หรือติดลบมากกว่านั้น เพราะมีปัจจัยลบมากทั้งที่เราไม่รู้ และปัจจัยเดิมที่ยังไม่หายไป" นายชัยชาญ กล่าว
ประธาน สรท. กล่าวว่า ช่วงโค้งสุดท้ายของปียังมีปัจจัยลบจากภายนอกมากมาย ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ทั้งรัสเซียกับยูเครน จีนกับไต้หวัน และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนยังคงมีอยู่เช่นเดิม ขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนยังเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่เติบโตมากเหมือนก่อนหน้านี้ เพราะยังมีปัญหาเรื่องบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเอลนีโญที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหาร โดยผู้ส่งออกควรติดตามปัจจัยสำคัญ 3 เรื่อง คือ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า, ราคาน้ำมัน และค่าเงินบาท
โดยปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปีนี้ ได้แก่
1.การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น ตลาดสหรัฐ ยุโรป และจีน ซึ่งส่งผลให้อุปสงค์ของสินค้าและบริการปรับลดลง และอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และภาระต้นทุนการกู้เงินของผู้ประกอบการ
2.ดัชนีภาคการผลิต (PMI) ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ
3.ต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น
4.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจส่งผลต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตร และการขนส่ง
ทั้งนี้ สรท.มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลใหม่ เพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศ ประกอบด้วย ลดต้นทุน ยกระดับประสิทธิภาพ และสร้างโอกาสทางการค้า พร้อมทั้งข้อเสนอแนะการดำเนินงานที่สำคัญแยกตามประเด็นยุทธศาสตร์ 10 ด้าน ประกอบด้วย
1.ด้านการศึกษาและการยกระดับฝีมือแรงงาน (Education and Labor Skill Development) อาทิ
- เร่งสนับสนุนงบประมาณเพื่อยกระดับฝีมือ (Upskill) และปรับเปลี่ยนทักษะฝีมือ (Reskill) ของแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม รวมถึงการทำ Internship Industry ร่วมกับบริษัทหรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความต้องการ, เร่งส่งเสริมและสนับสนุนทั้งด้านการเงินและการพัฒนาหน่วยงานหรือสถาบันฝึกอบรมของไทยได้รับการรับรองมาตรฐานสากล, เร่งส่งเสริมการเพิ่มทักษะทางด้านภาษาต่างประเทศของแรงงานเพื่อใช้สำหรับการสื่อสารทางการค้าระหว่างประเทศ และการทำงานร่วมกับนักลงทุนจากต่างประเทศ, เร่งพัฒนาวิทยากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและ Artificial Intelligent (AI), เร่งสนับสนุนภาคการศึกษาโดยเฉพาะกลุ่มอาชีวะและกลุ่มวิชาชีพเฉพาะทางที่ต้องใช้ทักษะขั้นสูง ให้ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี
2.ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology & Innovation) อาทิ
เร่งส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล (Information Flow) เชิงบูรณาการระหว่างรัฐและเอกชนผ่านแพลตฟอร์มการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation Platform) และบริหาร Big Data เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการวางแผน, เร่งยกระดับการวิจัยและพัฒนา (R&D) ในภาคการผลิตและภาคการส่งออก เพื่อให้มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับยกระดับประสิทธิภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ, เร่งปรับการส่งเสริมการลงทุนโดยให้สิทธิประโยชน์ที่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ
3.ด้านการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดโลก (Competitiveness in Global Market) อาทิ
- เร่งรัดการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกในตลาดเป้าหมาย, การพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของไทยต้องอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับทักษะฝีมือและผลิตภาพในการผลิตของแรงงาน เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของการส่งออก, เร่งจัดหาแหล่งเงินทุน-ลดต้นทุนการผลิตเพื่อรักษาความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก โดยเฉพาะ 1) การบริหารต้นทุนพลังงาน ค่าไฟฟ้า อัตราดอกเบี้ย ค่าจ้างขั้นต่ำ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และ 2) ชะลอการบังคับใช้กฎระเบียบที่อาจเป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ, กำหนดนโยบายเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สำหรับเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ตลอดจนขับเครื่องนโยบายยานยนต์ High-Performance ICE เพื่อรักษาโอกาสทางการตลาดในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า หรือยานยนต์พลังงานสะอาดประเภทอื่น ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนรูปแบบพลังงานทั่วโลกถึงประมาณ 30%
- เร่งพิจารณา 1) ยกเว้นการเก็บค่าภาระสินค้า (Cargo Dues) สำหรับสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ที่ขนส่งด้วยเรือลำเลียง (Barge) จากท่าเรือแหลมฉบัง ผ่านร่องน้ำสันดอนเจ้าพระยาเข้าไปขนถ่ายหรือส่งมอบในเขตท่าเรือกรุงเทพ และ 2) จัดกลุ่มประเภทหรือรายการสินค้าและกำหนดอัตราเรียกเก็บค่าภาระสินค้าสำหรับสินค้าแต่ละประเภทให้มีสัดส่วนสอดคล้องกับราคาสินค้า
4.ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)
- พิจารณาใช้ประโยชน์จากการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนที่มีอยู่ร่วมกัน อาทิ ท่าเรือ ลานกองตู้สินค้า สถานีบรรจุและคัดแยกสินค้ากล่อง ในฐานะโครงข่ายการขนส่งในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบเศรษฐกิจ เพื่อลดต้นทุนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ซ้ำซ้อนหรือเกินความจำเป็น และให้มุ่งเน้นการลงทุนเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลและยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการแก่การค้าระหว่างประเทศ
5.ด้านเสถียรภาพทางการเงิน (Financial Stability)
- สนับสนุนให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ด้วย Supply Chain Financing, เร่งสร้างเสถียรภาพค่าเงินบาทเพื่อลดความเสี่ยงทางการเงินของผู้ประกอบการจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน อาทิ ส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ในการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ และใช้สกุลเงินต่างประเทศในการซื้อขายระหว่างซัพพลายเชนในประเทศ
6.ด้านความยั่งยืน (Sustainability)
- ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และการพัฒนา Future Food เพื่อให้มีสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและสามารถรักษาอัตราการเติบโตในการส่งออกสินค้าอาหารอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ยังมีปริมาณเพียงพอกับการบริโภคในประเทศ
- เร่งผลักดันการพัฒนาการขนส่งเพื่อสิ่งแวดล้อม อาทิ เร่งรัดโครงการ Green Port Initiative เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศ เป็นต้น
- เร่งสนับสนุนด้านการเงินเพื่อการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Financing) อาทิ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Interest Rate) สำหรับการเงินกู้เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตและกิจกรรมทางธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการใช้พลังงานและการปล่อยคาร์บอน
- เร่งนำเสนอมาตรการและเครื่องมือเพื่อยกระดับให้ผู้ประกอบการภาคการผลิต และภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ สามารถเปลี่ยนผ่านและยกระดับไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) อาทิ 1) เร่งกำหนดเป้าหมายและทิศทางของประเทศไทยในการพัฒนาพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ภาคธุรกิจทราบทิศทางการลงทุนและการเลือกใช้เทคโนโลยี 2) เร่งพัฒนาแนวทางหรือวิธีการตรวจประเมินและการรับรองการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการทางธุรกิจซึ่งเป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้าและสอดคล้องตามหลักสากล เป็นต้น
7.ด้านความเชื่อมโยงระดับภูมิภาค (Regionalization)
- เร่งการเจรจาการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) และความตกลงทางการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจรูปแบบอื่น อาทิ Mini FTA, Mutual Recognition Agreement (MRA), หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ทั้งระดับทวิภาคี พหุภาคี และหน่วยงานระดับท้องถิ่น เพื่อลดความซับซ้อนและอุปสรรคในการเข้าถึงตลาดและแหล่งวัตถุดิบ ให้ผู้ประกอบการไทยสามารถนำเสนอสินค้าเข้าสู่ตลาดโลกและแสวงหาวัตถุดิบสำคัญได้มากขึ้น
8.ด้านโลจิสติกส์และการเชื่อมต่อในอาเซียน (Logistics and Connectivity in ASEAN)
- ส่งเสริมให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นศูนย์กลางการถ่ายลำ (Transshipment Hub) โดยทดลองผ่อนคลายหรือยกเลิกข้อจำกัดการถ่ายลำ (Transshipment Sandbox) เป็นเวลา 1 ปี ตลอดจนประยุกต์แนวทางการดำเนินการที่ผ่านมาของท่าเรือศูนย์กลางการถ่ายลำที่สำคัญในต่างประเทศ อาทิ สิงคโปร์ และฮ่องกง เป็นต้น มาใช้ในการกำกับดูแลในประเทศไทย
- กำหนดมาตรการเพื่อส่งเสริมการขนส่งสินค้าหลายรูปแบบที่เชื่อมโยงในประเทศ อาทิ เพิ่มบทบาทและกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนและลดภาษีเงินได้นิติบุคคลในการประกอบกิจการของเอกชนในระบบรางและการขนส่งทางน้ำในประเทศ เพื่อทดแทนการขนส่งทางถนน ซึ่งจะทำให้สามารถลดต้นทุนและลดการปล่อยคาร์บอนในภาคขนส่งให้ต่ำลง
- สนับสนุนผู้ประกอบการสายการบินเพิ่มบริการขนส่งสินค้าทางอากาศแบบประจำเส้นทางโดยเครื่องบินขนส่งสินค้า
- เร่งฟื้นการเจรจา Cross Border Transport Agreement (CBTA) เพื่อลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้าข้ามแดนผ่านแดน และเพิ่มสิทธิ์ให้ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางถนนของไทยสามารถขนส่งสินค้าจากไทยผ่านประเทศเพื่อนบ้านไปยังประเทศเป้าหมายทางการค้า อาทิ จีน โดยไม่ต้องเปลี่ยนยานพาหนะและพนักงานขับรถ
9.ด้านการค้าดิจิทัล (Digital Trade)
- เร่งพัฒนามาตรฐานธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมการทำธุรกิจและการค้าระหว่างประเทศให้อยู่ในรูปแบบ A Complete Digital Trading Process ทั้งในส่วนของรัฐและเอกชน โดยสามารถเชื่อมต่อระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เข้ากับe-Payment และระบบภาครัฐ อาทิ National Single Window (NSW) และ Port Community System (PCS)
- ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อลดต้นทุนของผู้ส่งออกในการเข้าสู่ E-Commerce Platform หลักในประเทศเป้าหมาย เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนวิสาหกิจชุมชนสามารถเข้าถึงช่องทางการค้าออนไลน์ได้มากขึ้น
- พิจารณาลงทุน E-Commerce Super Platform ของไทย เพื่อเป็นช่องทางการนำเสนอและจัดจำหน่ายสินค้า
- เร่งรัดการพัฒนาระบบ Port Community System (PCS) ให้พร้อมให้บริการ และต่อยอดให้เป็น Maritime Single Window (MSW) เพื่อเชื่อมโยงระบบการทำงานด้านเอกสารและระบบปฏิบัติของผู้เกี่ยวข้องให้เป็นหนึ่งเดียว สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และบริหารจัดการกรณีวิกฤตโดยง่าย
- เร่งรัดการพัฒนาระบบ National Single Window (NSW) ให้สมบูรณ์และเป็น Single Submission โดยปรับปรุงระบบการจัดการฐานข้อมูลและระบบการให้บริการภาครัฐให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน หรือทำ Data Harmonization ทั้งระบบให้สอดคล้อง
10.ด้านกฎหมายและกฎระเบียบ (Laws & Regulations)
- ผลักดันการจัดตั้ง Global Fair-Trade Committee on Maritime Transport ภายใต้องค์กรระหว่างประเทศ อาทิ องค์กรการค้าโลก หรือ องค์กรทางทะเลระหว่างประเทศ เป็นต้น เพื่อเป็นเวทีสำหรับการหารือระหว่างผู้ส่งสินค้า (Shippers) และสายการเดินเรือ (Shipping Lines) ให้เกิดความเป็นธรรมในการกระทำการใดๆ ของสายเรือต่อผู้ใช้บริการ
- ผลักดันการกำหนดเงื่อนไขการให้บริการและสัญญาการขนส่งของสายเรือให้เป็นธรรมและสอดคล้องกับการดำเนินงานตามข้อเสนอ 2022 Bill of Cargo Right Manifesto ของ Global Shippers? Alliance (GSA)
- ผลักดันและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการส่งออกและผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าทางอากาศ ได้รับการรับรองเป็น Known Consignor และ Regulated Agent ตามมาตรฐานองค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และมาตรฐานของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหภาพยุโรป
- เร่งแก้ไขกฎหมายความสูงรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ และความสูงรถบรรทุกรถยนต์ (Car Carrier) ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และสอดคล้องกับข้อเท็จจริงการขนส่งทางถนนในปัจจุบัน