นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ "แนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เพื่อเศรษฐกิจดิจิทัล และการเติบโตอย่างยั่งยืน" ในงานสัมมนาใหญ่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประจำปี 2023 ว่า ธปท. ได้มีการจัดทำแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยขึ้น เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาที่เป็นพื้นฐานของประเทศ เพราะหากไม่แก้ไขก็จะทำให้ไปต่อได้ยาก ซึ่ง ธปท.ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
โดยหลักของภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย ประกอบด้วย 1.การสร้างนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีและข้อมูล ซึ่ง ธปท.อยากเห็นสถาบันการเงินนำเทรนด์ดิจิทัล เกาะเทรนด์ดิจิทัล มีผู้เล่นหน้าใหม่ๆ ที่นำระบบเทคโนโลยเข้ามาเพื่อให้บริการประชาชน มีโครงสร้างพื้นฐานที่เปิดกว้าง เพื่อนำไปสู่ต้นทุนที่ถูกหรือต่ำลงในการให้บริการประชาชน รวมทั้งมีการ Open data
2. สนับสนุนเศรษฐกิจให้เปลี่ยนผ่านได้อย่างยั่งยืน ทั้งในภาคของสิ่งแวดล้อม และภาคครัวเรือน และ 3. การกำกับดูแลที่ยืดหยุ่นเท่าทันความเสี่ยงในรูปแบบใหม่ ธป. อยากเห็นสถาบันการเงินมีนวัตกรรมที่ตามความเสี่ยงต่างๆ ได้อย่างเท่าทัน
พร้อมมองว่า ความท้าทายสำคัญใน 4 เรื่อง ที่ไทยต้องก้าวข้าม เพื่อนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน คือ
1. หนี้ครัวเรือนของไทย เป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน หากปล่อยไว้จะฉุดรั้งเศรษฐกิจ และเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ทั้งนี้ พบว่าหนี้ครัวเรือนไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพิ่มสูงขึ้นถึง 20% จากปี 55 อยู่ที่ระดับ 76.1% ต่อ GDP และพุ่งขึ้นมาเป็นระดับ 85.9% ในปี 56 เนื่องจากในช่วงปี 55 ประเทศไทยเจอวิกฤติอุทกภัยครั้งใหญ่ ทำให้คนต้องกู้เงินมาซ๋อมแซมบ้านเรือน ประกอบกับเป็นช่วงที่มีนโยบายรถคันแรก มีการกู้เงินซื้อรถยนต์ ซึ่งนโยบายเหล่านี้มีทั้งข้อดี และข้อควรระวัง
อย่างไรก็ดี เมื่อภาวะเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น หนี้ครัวเรือนก็จะลดลง แต่หลังจากนั้นประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงอีกครั้งมาอยู่ที่ระดับ 94% ในช่วงปี 63-34 ที่มีสถานการณ์การระบาดอย่างหนักของโรคโควิด-19 ทำให้รายได้ประชาชนหายไป และหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น และหลังจากผ่านวิกฤติในช่วงนั้น เศรษฐกิจไทยเริ่มทยอยฟื้นตัว ประชาชนเริ่มชำระคืนหนี้ ทำให้หนี้ครัวเรือนเริ่มลดระดับลงอย่างช้าๆ มาอยู่ที่ 90.8% ในปัจจุบัน
"ถามว่าลงมาอยู่ในระดับที่น่าพอใจหรือยัง ถ้าระดับสากลจะมี Benchmark ที่ 80% แต่เรายังอยู่สูงกว่านั้น คงต้องใช้เวลาสักระยะ ให้ลงมาอยู่ในระดับที่จัดการได้ แต่เราคงไม่เห็นกลับไปที่ระดับ 80% ในเร็ววัน เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เพราะรอบก่อนที่มีน้ำท่วม และมีรถคันแรก ใช้เวลานานมากกว่าจะปรับลงมาได้ ส่วนรอบนี้ ก็คงต้องใช้เวลาเช่นกัน" นายธาริฑธิ์ ระบุ
ทั้งนี้ ธปท. ได้พยายามผลักดันมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยสิ่งที่ต้องการเห็น คือ สถาบันการเงินให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมตลอดช่วงเวลาของการเป็นหนี้, มีกลไกการคิดดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของลูกหนี้, กำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ เพื่อดูแลการก่อหนี้ให้มีคุณภาพ และจัดทำหลักสูตรให้ความรู้ รวมทั้งมีกิจกรรมเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมทักษะทางการเงิน
2. การเข้าถึงบริการทางการเงิน ที่ผ่านมา ธปท.ได้เพิ่มผู้เล่นในระบบการเงิน เพื่อช่วยปิด gab กลุ่มที่เข้าไม่ถึง โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตามกำหนด สามารถประกอบธุรกิจสินเชื่อ P-loan และ Nano finance นอกจากนี้ ธปท.อยู่ระหว่างดำเนินการเปิดให้มี Virtual Bank ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ไม่มีสาขา ให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก ซึ่งในอนาคตจะเปิด Virtual Bank ไม่เกิน 3 ราย ให้เข้ามาเป็นผู้เล่นใหม่
นอกจากนี้ Open Data ยังเป็นอีกแนวนโยบายสำคัญ ที่ ธปท.กำลังผลักดันเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อ โดยเฉพาะในกลุ่มรายย่อย และ SMEs ซึ่งต้องมีกรอบกฎหมายรองรับให้แต่ละองค์กรสามารถส่งผ่านข้อมูลระหว่างกันได้ และมี incentive ในการพัฒนาระบบให้แชร์ข้อมูลได้ มีโครงสร้างพื้นฐานและระบบความปลอดภัยที่ดี
รวมไปถึงเรื่องอื่นๆ ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินด้วย เช่น กลไกการค้ำประกันที่ดี ตอบโจทย์ความต้องการเงินทุนที่หลากหลาย และการทำใหัศักภาพการแข่งขันของ SMEs สูงขึ้น
"เหล่านี้ เป็นหนึ่งใน Landscape ใหม่ที่เราตั้งใจพัฒนาขึ้นมา เพื่อให้ข้อมูล flow มากขึ้น และมีผู้เล่นใหม่เข้ามาใช้ประโยชน์จากข้อมูลมากขึ้น เพราะสุดท้ายแล้ว เราอยากเห็นคนเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น ด้วยคุณภาพที่ดีขึ้น" นายธาริฑธิ์ ระบุ
3. การรับมือกับภาวะโลกร้อน ประเทศไทยมีความเสี่ยงด้านกายภาพจากภาวะโลกร้อน โดยจะพบว่าไทยติดอันดับที่ 9 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่ขีดความสามารถในการรับมือกับภัยทางธรรมชาติของไทยอยู่ในอันดับที่ 39 จาก 48 ประเทศ ซึ่งภาวะโลกร้อนจะส่งผลกระทบให้ 1 ใน 3 ของแรงงานไทยที่อยู่ในภาคเกษตรจะได้รับผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และหากเรานิ่งเฉยกับปัญหานี้ อาจทำให้ในปี 2050 ประเทศไทยจะสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
ทั้งนี้ ธปท.มุ่งสนับสนุนให้ภาคการเงินพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม และจัดสรรเงินทุนที่เพียงพอ ตอบโจทย์ความต้องการปรับตัวของภาคธุรกิจ
"ธนาคารกลางของทั่วโลก ให้ความสนใจในประเด็นนี้มาก เพราะความเสียหายของภาคเอกชน ก็คือความเสียหายของลูกหนี้ มีผลกระทบต่อสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ธนาคารกลางหลายประเทศ และแบงก์ชาติให้ความสนใจ" นายธาริฑธิ์ ระบุ
4. การเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ธปท.เห็นถึงโอกาสและความสำคัญของนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลต่อการพัฒนาภาคการเงิน ขณะเดียวกันก็ตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจตามมาในหลายรูปแบบ โดยการเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลในแง่ของโอกาสนั้น จะทำให้ระบบการเงินมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต้นทุนถูกลง, ได้รับบริการทางการเงินที่ดีขึ้น มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและธุรกิจ รวมทั้งเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินที่หลากหลาย อย่างไรก็ดี ก็มีความเสี่ยงที่อาจตามมา เช่น ความเสี่ยงต่อเงินฝากของประชาชน, ความมั่นคงและความเชื่อมั่นต่อระบบสถาบันกาเรงิน, เสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินโดยรวม
"เราจะพยายาม balance ระหว่างนวัตกรรม สำหรับความเสี่ยงที่เราอยากให้สถาบันการเงินเท่าทันมากขึ้นในอนาคต คือ AI เช่น แชทบอต ทำอย่างไรให้มีกรอบหรือกฎเกณฑ์ที่เข้ามาดูแล หรือเป็นข้อควรระวัง แบงก์ชาติพยายามเข้าไปดูแล อาจจะยังไม่มีอะไรคืบหน้ามาก แต่เป็นสิ่งที่เราจับตา และเตรียมการรองรับ" นายธาริฑธิ์ ระบุ