นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ บรรยายพิเศษในหัวข้อ "เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล" ซึ่งเป็นการฉายภาพใหญ่ของการเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยกับส่วนต่างๆ ทั้งในระดับอนุภูมิภาค และส่วนภูมิภาค โดยระบุว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา GDP ไตรมาส 2/66 อยู่ที่ 1.8% ซึ่งค่อนข้างน่าผิดหวัง ปัจจัยหลักเนื่องจากมีปัญหาเรื่องการส่งออกสินค้าที่ไทยติดลบต่อเนื่อง 3 ไตรมาส จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ส่งผลให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงด้วย ซึ่งในส่วนนี้เป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ เพื่อไม่ให้ไปกระทบกับการจ้างงานภาคอุตสาหกรรม
อีกส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อ GDP ทางเทคนิค คือ การอุปโภคบริโภคภาครัฐบาล เนื่องจากปีที่แล้ว มีค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินโอนเพื่อสวัสดิการในการรักษาพยาบาลจากโควิด-19 แต่ปีนี้ไม่มี ในส่วนของเครื่องชี้เศรษฐกิจอื่นๆ ภาคการบริโภคค่อนข้างแข็งแกร่ง
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกในช่วงต่อไปยังมีความเสี่ยง จากสถานการณ์ที่อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง โดยเศรษฐกิจโลกในปี 66 มีแนวโน้มชะลอลงจากปี 65 ตามการผลิตภาคอุตสาหกรรม และการส่งออกที่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี ยังมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวดีของการบริโภคภายในประเทศ และการฟื้นตัวของภาคบริการ
"ถ้าดูดัชนีฝ่ายจัดซื้อในภาคการผลิต พบว่าดัชนีต่ำกว่าระดับ 50 เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ออเดอร์การผลิตเพื่อการส่งออก ที่จะส่งมาไทยลดลง แต่เรื่องการส่งออกไทยไม่ได้เป็นประเทศเดียว ประเทศเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย การส่งออกก็ติดลบเช่นกัน แต่ของไทยติดลบมาก เนื่องจากสินค้าไทยเป็นสินค้าที่มีลักษณะการรับจ้างผลิต ซึ่งทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง" นายดนุชา กล่าว
*การเชื่อมโยงระดับภูมิภาคและระดับโลก
ประเทศไทยมีการเชื่อมโยงระบบคมนาคมและโลจิสติกส์กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคทางถนน ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้การค้าชายแดน หรือการส่งสินค้าไปประเทศจีนขยายตัว ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการส่งออกไทย เนื่องจากถ้าเศรษฐกิจโลกมีปัญหา ก็ยังมีตลาดประเทศเพื่อนบ้านรองรับ
สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการเชื่อมโยงภายในภูมิภาค มีทั้งการพัฒนาระบบราง (รถไฟทางคู่ และรถไฟสายใหม่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงภูมิภาค), การพัฒนาการขนส่งทางน้ำ (ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3) และการพัฒนาขนส่งทางอากาศ (การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ)
"ตลาดหลักของไทยอยู่ที่จีน เส้นทางเชื่อมลาวไปจีน จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จะเห็นการขนส่งมากขึ้น ขณะเดียวกัน ถ้าขยายท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ได้ดี ก็จะทำให้สินค้าที่วิ่งมาสามารถถ่ายลำลงได้ ส่วนทางอากาศก็มีการพัฒนามาต่อเนื่อง แต่ในอนาคตจะมีการบินแบบจุดต่อจุดมากขึ้น ลงที่จังหวัดต่างๆ เลย เชื่อมโยงเชิงการท่องเที่ยว การค้า และสนับสนุนเรื่องการลงทุนในอนาคตด้วย" นายดนุชา กล่าว
อย่างไรก็ดี มีปัญหาในการเชื่อมโยงและอำนวยความสะดวกภายในภูมิภาค คือ
- ปัญหาคอขวดของโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ทำให้เกิดความแออัดบริเวณหน้าด่านพรมแดน
- ปัญหาการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานกับประเทศเพื่อนบ้านที่ยังมี GAP ระหว่างกัน อาทิ โครงข่ายรถไฟ
- การเปลี่ยนแปลงนโยบายการพัฒนาพื้นที่ชายแดน/ นโยบายด้านการขนส่งสินค้าของประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สปป.ลาว ให้ใช้รถบรรทุกสัญชาติลาวขนส่งเท่านั้น
- สถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน ที่อาจทำให้การค้าชะงัก นอกจากนี้ ยังต้องระมัดระวังเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนด้วย
*สถานการณ์เศรษฐกิจโลก และความเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยในโซ่อุปทานโลก
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสำคัญ ได้แก่ กลุ่ม G7, กลุ่ม BRICS, กลุ่ม CPTPP และกลุ่ม RCEP แต่ละกลุ่มมีความสำคัญในแง่ตลาดและการค้าขายในอนาคต โดยแต่ละกลุ่มจะมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 27% ของ GDP โลก อย่างไรก็ดี ประเทศไทยเข้าร่วมแค่ RCEP เท่านั้น ดังนั้นในอนาคตไทยต้องเร่งเจรจาเข้าร่วมกลุ่มอื่นๆ มากขึ้น
สำหรับการค้าระหว่างประเทศของไทยปี 65 GDP โลกมีมูลค่า 100 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ประเทศไทยมี GDP อยู่ที่อันดับ 27 จาก 193 ประเทศ ตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย อันดับหนึ่ง คือ สหรัฐฯ รองลงมาคือ จีน โดยไทยขาดดุลการค้ากับจีน แต่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ
"ไทยยังต้องยึด 2 ตลาดหลัก อย่างไรก็ดี มีการแบ่งขั้ว (Decoupling) ค่อนข้างชัดเจน ดังนั้น ในช่วงถัดไป ทั้งเชิงการต่างประเทศ และการค้าการลงทุน ไทยจึงต้องวาง position ให้ดี อยู่ในจุดที่สมดุล เพื่อให้ไม่ได้รับผลกระทบจากการสู้กัน โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้า ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 59" นายดนุชา กล่าว
อย่างไรก็ดี การ Decoupling ทำให้บริษัทมีแผนย้ายออกจากจีน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสของไทยในการดึงอุตสาหกรรมต่างๆ ที่กำลังย้ายฐานเข้าประเทศไทย ซึ่งปัจจัยที่ไทยยังขาดมีเพียงเรื่องเดียว คือเรื่องทักษะแรงงานที่ยังมีปัญหาในการขยับไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ อุตสาหกรรมดิจิทัล อีกส่วนหนึ่ง คือ เรื่อง Sustainability และ Green Energy
สำหรับโอกาสและความท้าทายของอุตสาหกรรมที่ไทยมี คือ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี, อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และอุตสาหกรรมทางการแพทย์
นายดนุชา กล่าวว่า หากเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทย และประเทศเวียดนาม จะเห็นได้ว่าเวียดนามกำลังขยับตัวขึ้นเรื่อยๆ โดยมีข้อตกลงทางการค้า (FTA) 16 ฉบับ มีประเทศคู่ค้า 56 ประเทศ มากกว่าไทยที่มีเพียง 14 ฉบับ 18 ประเทศคู่ค้า ขณะที่สัดส่วนทางการค้าไทยก็ยังน้อยกว่าเวียดนาม
"สิ่งที่เกิดขึ้น คือ สินค้าของไทยอาจยังไม่มีการใช้เทคโนโลยี หรือนำนวัตกรรมเข้าไปเพิ่ม เช่น อุตสาหกรรมที่เคยเป็นดาวรุ่ง ส่งออกได้มาก อย่างฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนเป็นชิปมากขึ้น ทำให้การผลิตและส่งออกของไทยลดลง เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ และอุตสาหกรรมดิจิทัลที่มีจุดเปลี่ยน จึงต้องมีการปรับโครงสร้าง ไม่เช่นนั้นจะตามไม่ทัน และหนีเวียดนามไม่ทัน" นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา กล่าวว่า ส่วนเรื่องการเจรจาทางการค้า รัฐบาลที่จะเข้ามาบริหาร มีความชัดเจนว่าให้ความสำคัญเรื่องการค้าการลงทุนกับต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่ต้องสนับสนุน
*เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล
สำหรับแนวทางเปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล ได้แก่
1. ปรับปรุงแนวทางนโยบายเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทาน
- การเตรียมความพร้อมรองรับ Decoupling โดยลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการสร้างระบบนิเวศทางดิจิทัล
- เพิ่มการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สร้างการกระจายตัวของคู่ค้า โดยการลดการพึ่งพาประเทศหรือภูมิภาคใดเพียงแห่งเดียว แต่ต้องบูรณาการกับกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้หลากหลาย เพื่อเปิดตลาดให้กว้างขึ้น และทำให้เศรษฐกิจมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
- สร้างความไว้วางใจ ทั้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชน และรัฐบาลกับเอกชน
2. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
- การสร้างความพร้อมของระบบนิเวศเศรษฐกิจสีเขียว โดยการปรับการผลิตสีเขียว การใช้พลังงานทางเลือก ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดำเนินการด้านคาร์บอนเครดิต และนโยบายการเงินสีเขียว
3. สร้างความเข้มแข็งผู้ประกอบการไทย
- ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ต้องส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ
- ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ SME และเศรษฐกิจฐานรากชุมชน ต้องให้ความช่วยเหลือทางการเงิน มาตรการทางภาษี เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่
นายดนุชา กล่าวว่า การเป็นประเทศผู้ผลิต (Production) ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตช้า เนื่องจากสินค้าที่ผลิตและส่งออก เป็นสินค้าที่มีมูลค่าไม่สูงมาก ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนจากผู้รับจ้างผลิต ไปสู่ผู้ค้าที่ขายได้ วิจัยพัฒนาเป็น เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า