นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เดินทางเข้ากระทรวงคมนาคมพร้อมด้วยนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม และ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เข้ากราบสักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในกระทรวงและแถลงว่า ในวันนี้ยังไม่มีการแถลงนโบายของกระทรวง เนื่องจากต้องรอรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 11-12 ก.ย.ก่อน
นายสุริยะ กล่าวถึง โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท ที่ยังอยู่ระหว่างการรอลงนามสัญญากับบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ซึ่งเป็นผู้ชนะประมูลว่า เรื่องนี้ในช่วงที่ตนยังเป็นรมว.อุตสาหกรรมพบว่า ได้มีการเสนอโครงการฯนี้ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ซึ่งตนอยู่ในการพิจารณาครั้งนั้นด้วย และได้แสดงความคิดเห็นว่า โครงการฯยังอยู่ระหว่างการฟ้องร้องของศาลปกครอง โดยสำนักงานคณะกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นว่าควรรอให้ศาลปกครองพิพากษาถึงที่สุดก่อนถึงจะดำเนินการต่อไปได้
เท่าที่ทราบ มี 3 คดี โดย 2 คดีเป็นที่สิ้นสุดแล้ว ส่วนอีกคดีอยู่ระหว่างรอคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด โดยศาลปกครองกลางได้พิจารณาแล้วว่าทางคณะกรรมการคัดเลือก และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไม่ได้กระทำผิดขั้นตอน
"เราเป็นรัฐบาลก็รอ และคงต้องทำตามคำตัดสินศาลปกครอง ซึ่งหลังจากนั้นจะทำอย่างไร โครงการฯจะเดินหน้าอย่างแน่นอนแต่จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ก็ต้องรอคำชี้ขาดของศาลปกครองสูงสุด มีความเป็นไปได้ว่าให้รายเดิมเข้าลงทุน หรือจะเปิดประมูลใหม่" นายสุริยะกล่าว
ส่วนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น นายสุริยะ กล่าวว่า ต้องขอโทษประชาชนที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่านโยบายนี้ไม่เร่งด่วน เพราะยืนยันว่านโยบายนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลจะทำเพื่อแก้ไขปัญหาลดค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยเฉพาะที่อยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล แต่เนื่องจากมีขั้นตอนที่เจรจากับเอกชนผู้รับสัมปทาน เกี่ยวกับภาระหนี้สิน โดยรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่อยู่ภายใต้กรุงเทพมหานคร และก.มหาดไทย และต้องมีการหารือทั้งรัฐและเอกชน ในการพัฒนาระบบตั๋วร่วม จึงต้องใช้เวลาในการหารือกับผู้ประกอบการ อีกทั้งต้องใช้เวลาติดตั้งระบบซอฟต์แวร์ที่ประเมินว่าใช้เวลาอย่างเร็ว 1 ปี ดังนั้นจึงประเมินว่าจะใช้เวลาทำงานเรื่องนี้ 2 ปีสำเร็จ
ขณะเดียวกันรัฐบาลคาดว่า นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นกว่า 10% ที่รายได้ที่เข้ามาใหม่เพิ่มขึ้นมา รัฐบาลก็คงเจรจากับเอกชนเรื่องแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งทางกรมการขนส่งทางราง ประเมินตัวเลขออกมาแล้วว่าหากจะดำเนินการนโยบายนี้รัฐบาลต้องชดเชยเม็ดเงินเท่าไร และได้มอบหมายให้ไปหารือกับนักวิชาการ ม.ธรรมศาสตร์ที่มีข้อมูลเรื่องนี้ และกลับมาทบทวนตัวเลขกัน ดังนั้นยืนยันว่ารถไฟฟ้า 20 บาทต้องทำแน่นอน
"ผมคิดว่า เราให้สัมปทานเอกชนแล้ว แต่อยู่ๆจะยกเลิกสัญญาสัมปทานคงทำไม่ได้ ในเมื่อโครงการเป็นอย่างนี้ก็ต้องพูดคุยกัน ต่างกระทรวงกันเราพูดคุยกัน นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทเราทำแน่นอน แต่ขอเวลา"รมว.คมนาคมกล่าว
เรื่องที่จะเร่งรัดในระยะต่อไปเป็นระบบโลจิสติกส์ โดยไทยมีระบบโลจิสติส์สูงมากถึง 15%ของจีดีพี เทียบกับประเทศที่เจริญแล้วมีสัดส่วน 9%ของ จีดีพี เนื่องจากระบบขนส่งของไทย ส่วนใหญ่ใช้ทางบกมากกว่าขณะที่ทางน้ำ และทางอากาศมีเพียง 2% ดังนั้นรัฐบาลจะเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมในระบบราง ได้แก่ รถไฟทางคู่ ที่ต้องเร่งรัดผู้รับเหมาทำให้ทันเวลาที่กำหนด รวมถึงโครงการค้างท่อ อาทิ รถไฟทางคู่ ขอนแก่น- หนองคาย และลงทุนในโครงการใหม่ๆ เพิ่มเติม
นายสุริยะ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมจะเร่งเรื่องที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เพราะให้ความสำคัญเรื่องการท่องเที่ยวที่กำลังจะเข้าไฮซีซั่นซึ่งได้มีการพูดุยกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่จะเร่งกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยให้ปรับหรือจัดตารางการบิน (Slot) อย่างไรเพื่อให้มีสายการบินเข้าไทยมากที่สุดเพราะเท่าที่ทราบ จากซีอีโอ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) มีหลายสายการบินอยากเข้าไทยแต่ Slot ไม่พอ โดยให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หาวิธีจัด Slot เพิ่มเติม
ขณะเดียวกัน เห็นว่า Slot การบินของกองทัพอากาศมีพอสมควร ก็ได้ฝากนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม พูดคุยกับกองทัพอากาศ ถ้ามี Slot ที่ไม่ได้ใช้ก็ให้แบ่งมาให้ AOT มาใช้ ถ้าหากได้มา 100 เที่ยวบิน ก็จะขนนักท่องเที่ยวต่างประเทศมาได้กว่า 1 หมื่นคนแล้ว