นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวถึงผลของการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า ขึ้นอยู่กับว่าสามารถดำเนินการได้เร็วแค่ไหน ซึ่งคงต้องรอฟังการแถลงของรัฐบาลในวันที่ 11-12 ก.ย.นี้ก่อน ขณะนี้ยังไม่เห็นรายละเอียด หากจะไปวิพากษ์วิจารณ์ไปก่อนอาจไม่เหมาะสม เพราะเท่าที่รู้มา ขณะนี้ข้อมูลยังไม่นิ่ง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ และน่าจะส่งผลดีพอสมควร
"ขอรอดูข้อมูลที่ชัดเจนก่อน หลังจากฟังจบแล้ว กกร.คงได้คุยกัน" นายผยง กล่าว
สำหรับนโยบายการพักหนี้เกษตรกรนั้น นายผยง ระบุว่า ต้องยอมรับว่าเกษตรกรเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบาง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายภาคธนาคาร และเชื่อว่านโยบายนี้จะเป็นผลดี เพราะเข้าถึงเป้าหมาย ไม่ใช่นโยบายแบบเหมายกเข่ง
สำหรับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนั้น มองว่าได้รับแรงกดดันจากเงินเฟ้อลดลง ขณะที่ธนาคารต่างมีต้นทุนสูงขึ้น และตลาดเริ่มเข้าสู่จุดสมดุล โดยกลุ่มธนาคารสามารถปรับตัวรับนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ ซึ่งจะเห็นว่าหลังจาก คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ก็ไม่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ตาม
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีหลายประเด็นที่รัฐบาลต้องเร่งเข้ามาแก้ไขปัญหา ทั้งเรื่องการลดค่าครองชีพ การส่งเสริมท่องเที่ยวเรื่องฟรีวีซ่า ขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มเที่ยวบิน และประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวเกิดความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัย
ส่วนปัญหาภัยแล้งนั้น รัฐบาลต้องเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณที่ยังค้างท่ออยู่ และการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ซึ่งเชื่อว่าในไตรมาสที่ 4/66 เศรษฐกิจไทย มีโอกาสจะขยายตัวได้ 3%
อย่างไรก็ดี วันพรุ่งนี้ (8 ก.ย.) สภาหอการค้าฯ จะร่วมหารือกับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ซึ่งมีหลายประเด็นที่จะนำมาหารือกัน เช่น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เป็นต้น
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น จะมีความยืดหยุ่นในช่วง 4 ปี เมื่อถึงช่วงที่เหมาะสม ก็ให้เป็นไปตามกลไลของคณะกรรมการไตรภาคีได้พิจารณาเป็นระยะๆ