นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง เปิดเผยว่า มาตรการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ได้มีการหารือร่วมกันไปได้ในระดับหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ราว 5.6 แสนล้านบาท โดยยืนยันว่า งบประมาณที่จะนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ไม่มีปัญหา สามารถเดินหน้าไปได้แน่นอน โดยจะมาจากหลายส่วน เช่น การกู้เงิน ส่วนจะเป็นการกู้ในลักษณะใดนั้นยังไม่มีข้อสรุป แต่ยืนยันว่าจะไม่มีการออก พ.ร.ก.กู้เงินมาใช้ในโครงการเหมือนช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาแน่นอน
นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่คาดว่าจะมีการเสนอร่างกฎหมายเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทันทีภายในครั้งที่ 1 หรือ 2 เพื่อดูว่าจำเป็นต้องมีการเกลี่ยงบใหม่หรือไม่ และจะสามารถนำงบในส่วนใดมาใช้ได้หรือไม่
รมช.คลัง กล่าวว่า นอกจากการกู้เงินแล้ว ยังมีแหล่งรายได้ เช่น การจัดเก็บรายได้ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการใช้วงเงินนอกงงบประมาณ ภายใต้มาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ โดยในปี 2567 คงเหลืออยู่ราวหมื่นล้านบาท ที่อาจจะนำไปใช้ได้ และคาดว่าจะมีวงเงินทยอยชำระคืนจากส่วนนี้ ในปีงบประมาณ 2567 อีกราว 1 แสนล้านบาท ที่ยังนำมาใช้ได้เช่นกัน เนื่องจากคาดว่าแนวโน้มราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้น ทำให้ไม่มีการใช้วงเงินมากในการช่วยเหลือเกษตรกร และ บางโครงการที่อาจจะไม่ทำแล้ว ก็เฉลี่ยมาใช้ได้
"วิธีการจ่ายเงินดิจิทัล ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งหากต่างคนต่างพูด อาจเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ ที่ผ่านมา ก็มีการหารือกันในระดับหนึ่ง มีการคุยกันไว้หลากหลายแนวทาง เช่น กรณีที่จะใช้ผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตังเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่ ก็มีการพูดกันเป็น option หนึ่ง เป็นช่องทางที่ดี แต่ก็ยังไม่ได้มีข้อสรุปแต่อย่างใด ซึ่งเรื่องนี้จะไม่ล่าช้า คาดว่าทุกอย่างจะเสร็จภายในเร็ว ๆ นี้" นายกฤษฏากล่าว
ส่วนผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ก็ขึ้นอยู่กับว่าการใช้จ่ายเงินจะหมุนไปได้กี่รอบ ขณะที่ในปี 2566 เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีจากการบริโภคภาครัฐ การลงทุนเอกชน และการลงทุนภาครัฐ หลังมีความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ ขยายตัวได้ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ไว้ที่ 2.6%
รมช.คลัง ยืนยันว่าการจ่ายเงินดิจิทัล สามารถทำได้ ไม่ขัด พ.ร.บ.เงินตรา ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และจะไม่ผิดกฎหมายอย่างแน่นอน