ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนส.ค.66 อยู่ที่ระดับ 56.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 55.6 ในเดือนก.ค. จากปัจจัยบวกสำคัญ คือ การได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งช่วยสนับสนุนความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในภาพรวม นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น หลังจากการเปิดประเทศ
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม เดือนส.ค. อยู่ที่ 51.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางาน อยู่ที่ 53.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 65.2 โดยดัชนีทุกตัวปรับเพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นอีกครั้ง หลังจากเมื่อเดือนก.ค. ได้ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน โดยผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ว่าจะจัดตั้งได้เร็ว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้น หลังจากที่มีการแต่งตั้งนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย
พร้อมเห็นว่าการเมืองไทยจะมีเสถียรภาพมากขึ้นในอนาคต หลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลสลายขั้วการเมืองต่างๆ ที่มีความเห็นต่าง และเชื่อว่าความขัดแย้งทางการเมืองน่าจะคลี่คลายลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ และจะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค น่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากรัฐบาลใหม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วภายใต้นโยบายที่ได้หาเสียงไว้
"เป็นครั้งแรกในรอบ 46 เดือน หรือเกือบ 4 ปี ที่กลุ่มตัวอย่างตอบว่า สถานการณ์การเมืองในอนาคตจะแย่ลงน้อยกว่าระดับ 50 ซึ่งทำให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่างมองว่าการเมืองในอนาคตมีทิศทางที่ดีขึ้น เพราะไม่มีกลุ่มก้อนการเมืองออกมาชุมนุมประท้วง ได้เห็นการสลายขั้วการเมือง ซึ่งเรามองว่า ถ้ารัฐบาลสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็วในสิ้นปีนี้ และการเมืองสลายขั้วได้จริง สามารถทำงานร่วมกันได้ ก็จะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนทั้งไทย และต่างประเทศ เป็นมุมมองในเชิงบวกมาก มีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ต่อเนื่องไปจนถึงปี 67" นายธนวรรธน์ ระบุ
พร้อมมองว่า จากสัญญาณความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ดีขึ้นนี้ ภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่มีความชัดเจน และมีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น คาดว่าจะได้เห็นการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้น กำลังซื้อเริ่มกลับมา และมีโอกาสที่จะได้เห็นดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ขึ้นไปแตะที่ระดับ 100 ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 67 หากไม่มีเหตุการณ์พลิกผัน
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทย ทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลง และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค