รมว.คมนาคม เตรียมเรียก BTS-BEM-กลุ่มซีพี เจรจารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 14, 2023 15:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม แถลงถึงการทำงานภายในกระทรวงคมนาคมว่า ในแง่มิติเศรษฐกิจ กระทรวงคมนาคมถือเป็นส่วนสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ โดยเรื่องที่จะดูแลเอง ได้แก่ 1. นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย และ 2.การรองรับนโยบายวีซ่าฟรี

*นำร่องรถไฟฟ้า 20 บาท สายสีแดง-สีม่วง ม.ค. 67

นายสุริยะ กล่าวว่า นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่ช่วงแรกจะนำเส้นทางรถไฟสายสีแดง ที่อยู่ภายใต้การบริหารของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มาให้บริการในราคา 20 บาทตลอดสายก่อน ที่คาดว่าจะเริ่มม.ค.67

หลังจากนี้จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ รฟม. ที่อำนาจการลดราคาค่าโดยสารเป็นของคณะกรรมการ รฟม.ซึ่งจะพิจารณาอนุมัติ และดำเนินการได้ทันที ส่วน รฟท. เนื่องจากติดกรอบหนี้สาธารณะจึงต้องทำเรื่องเสนอครม. คาดว่าไม่เกิน 2-3 สัปดาห์ หากได้รับการอนุมัติก็ดำเนินการได้ทันที

ส่วนการเจรจากับผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทาน ได้แก่ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) รวมถึงกลุ่มซีพี ที่มาบริหารแอร์พอร์ตลิ้ง คาดว่าจะใช้เวลาเจรจาราว 2 ปี

โดยกรอบการเจรจาว่าการดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารจะเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ กับทั้ง BEM , BTS นอกจากนี้ก็จะพิจารณาว่าจะต้องใช้เงินอุดหนุนเท่าไร ซึ่งเป็นไปตามที่พรรคเพื่อไทยหาเสียง โดยจะเชิญเอกชนมาเจรจาเร็วที่สุด ซึ่งจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการที่มีตนเป็นประธานเพื่อเดินหน้านโยบายนี้

ทั้งนี้ จะเปิดใช้รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในทุกเส้นทางอย่างน้อย 2 ปี อย่างไรก็ดี การจัดซื้อระบบเพื่อทำตั๋วร่วมต้องให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนเอง เพราะอาจเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้เอกชน

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง(ขร.) กล่าวเสริมว่า การใช้นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะทำให้รายได้ลดลง โดยรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต รฟท.จะมีรายได้ลดลง 80 ล้านบาท/ปี ส่วนสายสีม่วง รฟม.จะมีรายได้ลดลง 56 ล้านบาท/ปี รวมแล้วคาดว่ารายได้รวม 136 ล้านบาท/ปี อย่างไรก็ตาม ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 10% ขึ้นไป คาดว่าจะใช้เวลา 2 ปีที่รายได้จะกลับมาเท่าเดิม เพราะรายได้จะเพิ่มขึ้น แต่รายจ่ายคงที่ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้มากกว่า

ปัจจุบัน รถไฟสายสีแดง มีปริมาณผู้โดยสาร 2-3 หมื่นคน/วัน ก็จะเพิ่มมากกว่า 3 หมื่นคน/วัน ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วง มีปริมาณผู้โดยสาร 5-6 หมื่นคน/วัน จะเพิ่มกว่า 6 หมื่นคน/วัน

*เลื่อนประมูล PPP หาเอกชนเดินรถสายสีแดง

ส่วนโครงการเอกชนร่วมลงทุนเดินรถไฟสายสีแดงที่สมัยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตรมว.คมนาคมนั้น นายพิเชฐ กล่าวว่า โครงการอาจจะเลื่อนไปก่อน เพราะปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารมีน้อยกว่าคาดมาก ซึ่งมีเพียง 3.8 หมื่นคน/วัน คาดว่าจะใช้เวลา 7-8 ปีจึงจะคุ้มทุน แต่หากใช้นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ก็อาจจะคุ้มทุนเร็วขึ้น ก็มีโอกาสที่จะให้เอกชนเดินรถเข้ามาบริหาร

นายพิเชฐ กล่าวว่า สาเหตุที่ปริมาณผู้โดยสารต่ำกว่าคาดเป็นเพราะเส้นทางเดินรถสั้นเกินไป ปัจจุบันเดินรถช่วงบางซื่อ-รังสิต ดังนั้นเตรียมจะนำเสนอให้ครม.พิจารณาส่วนต่อขยายสายสีแดง ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งจะช่วยขนส่งผู้โดยสารจำนวนมากขึ้น

*เร่งจัดสรร slot รับวีซ่าฟรี

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) กล่าวว่า นโยบายวีซ่าฟรีเป็นเรื่องเร่งด่วน AOT จัด Slot การบินสำหรับฤดูหนาวนี้ให้สามารถเพิ่มเที่ยวบินได้มากขึ้นอย่างน้อย 15% ต่อสัปดาห์เมื่อเทียบกับ Slot ช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับ นักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มมากขึ้นกว่า 5 ล้านคนจากนโยบายวีซ่าฟรี (VISA Free) สำหรับนักท่องเที่ยวจีนตลอดฤดู ท่องเที่ยวที่จะถึงนี้

รวมทั้ง AOT ดำเนินการเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสาร (Capacity) โดยการปรับปรุง พื้นที่ที่มีอยู่เดิม เพิ่มจุดเช็คอิน ตรวจค้น การใช้มาตรการจูงใจให้ผู้โดยสารใช้ระบบเช็คอินด้วยตนเอง รวมถึงการปรับการให้บริการ ได้แก่การเปิดให้บริการเช็คอินสำหรับผู้โดยสารกรุ๊ปทัวร์ และการพิจารณา เปิดให้บริการท่าอากาศยานที่ เชียงใหม่ เชียงราย และหาดใหญ่ ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อบรรเทาความแออัด ของผู้โดยสารและรองรับการเดินทาง นโยบายระยะกลาง 1-3 ปี ดำเนินการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติม เพื่อให้ทุกท่าอากาศยานในปัจจุบัน สามารถรองรับเที่ยวบินได้เต็มประสิทธิภาพของ Runway เช่น การก่อสร้างส่วนต่อขยายทิศตะวันออก ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ และเชียงราย ซึ่งจะทำให้ภาพรวมของท่าอากาศยานของ AOT ทั้งหมดสามารถ รองรับผู้โดยสารได้ถึง 200 ล้านคนต่อปี

ส่วนนโยบายระยะยาว 5-7 ปี ดำเนินการสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ ในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเติบโตของการท่องเที่ยว แต่สนามบินในปัจจุบันมีข้อจำกัดด้าน Runway ทำให้เพิ่มศักยภาพไม่ได้ ได้แก่ ท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 และท่าอากาศยานนานาชาติอันดามัน (ภูเก็ต2) ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารได้อีก 50 ล้านคนต่อปี

ในด้านการโอนการบริหารจัดการท่าอากาศยาน ที่ปัจจุบันกรมท่าอากาศยานเป็นผู้ดำเนินการ กระทรวงคมนาคมมี นโยบายในการถ่ายโอนท่าอากาศยานที่มีศักยภาพในการเปิดเป็นท่าอากาศยานนานาชาติ ให้ AOT เข้าดำเนินการแทน เช่น สนามบินกระบี่ อุดรธานี และบุรีรัมย์ รวมถึงพิจารณาท่าอากาศยานระดับภูมิภาคอื่นๆเพิ่มเติม เพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐ และพัฒนาคุณภาพการให้บริการแก่ผู้โดยสาร ทำให้ประชาชนผู้เดินทางได้รับประโยชน์ สูงสุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ