นายเศรษฐพุฒิ สุทธวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้ เนื่องจากความเสี่ยงด้านราคาพลังงานโลกที่อาจจะกลับมา รวมทั้งจากผลกระทบจากภาวะเอลนีโญ ที่จะทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งสินค้าในหมวดอาหารมีสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อ
การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ต้องยึดจาก Outlook Dependent มากกว่า Data Dependent โดยเป็นการมองข้อมูลในระยะข้างหน้ามากกว่า เพราะถ้าไปปรับนโยบายการเงินตามข้อมูลรายวันที่ออกมา ก็จะทำให้นโยบายแกว่งไปมา ดังนั้นต้องทำนโยบายการเงินให้สอดคล้องภาพในระยะยาว ทำให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่ยั่งยืน 1-3% ไม่สร้างความไม่สมดุลทางการเงิน ไม่สร้างพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนสูงในช่วงดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งขณะนี้มองว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยใกล้ถึงจุดที่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจแล้ว
"ตอนนี้โจทย์เราเปลี่ยนจาก smooth takeoff เป็น soft landing แล้ว อัตราดอกเบี้ยใกล้เคียงกับระดับที่เหมาะสมในระยะปานกลาง" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวด้วยว่า ในเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรี โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลถึงข้อระมัดระวังของ ธปท. ซึ่งต้องให้ความสำคัญเรื่องเสถียรภาพคลัง การทำนโยบายต่างๆ ต้องคำนึงถึงภาพรวมเศรษฐกิจ การดูแลเงินเฟ้อในระยะยาว รายจ่ายภาครัฐที่จะเข้ามาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งโจทย์ของ ธปท.โดยหน้าที่แล้ว คือต้องดูเสถียรภาพราคา เสถียรภาพการเงิน และเสถียรภาพระบบการชำระเงิน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อเศรษฐกิจ
"หลังจากช่วงโควิดแล้ว ทั่วโลกต่างพยายามทำให้กลับมาเป็นปกติ ทั้งนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง ตอนนี้ เราต้องให้ความสำคัญกับเสถียรภาพ เพราะหลายที่จับตามอง และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ที่ห่วงเป็นพิเศษช่วงนี้ คือเสถียรภาพการคลัง เราเห็นตัวอย่างแล้ว เช่น อเมริกา ที่โดนดาวน์เกรด เพราะไม่ใส่ใจเพียงพอกับเสถียรภาพการคลัง" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ในช่วงต้นไตรมาส 4 ปีนี้ ธปท.จะออกแนวทางสอดคล้องกับ Financial landscape เช่น การทำโครงสร้างพื้นฐานแลกเปลี่ยนข้อมูลให้มาตรฐานกลาง เช่น มีข้อมูลอยู่หลายแห่ง เช่น ธนาคาร การชำระค่าไฟ ค่าน้ำ มีข้อมูลอื่นที่นอกเหนือจากรายได้ เพื่อใช้ประกอบขอสินเชื่อ ช่วยลูกค้าที่ได้สินเชื่อสะดวกขึ้น