SCB CIO หนุนผู้ประกอบการ-นลท.ตลาดเงินตลาดทุน เร่งเดินตาม Green Taxonomy

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 15, 2023 14:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

SCB CIO หนุนผู้ประกอบการ-นลท.ตลาดเงินตลาดทุน เร่งเดินตาม Green Taxonomy

SCB CIO หนุนผู้ประกอบการและนักลงทุนไทย ตระหนักถึงความสำคัญของ Green Taxonomy พร้อมดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องและมุ่งเน้นสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยสถาบันการเงินมีแนวโน้มนำเสนออัตราดอกเบี้ยที่จูงใจมากขึ้น สนับสนุนบริษัทที่ออกตราสารหนี้ที่ทำกิจกรรมเศรษฐกิจสอดคล้องกับ Taxonomy ส่วนนักลงทุนสถาบันมุ่งออกแบบผลิตภัณฑ์การเงินนำเสนอกองทุนที่คำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG ด้านนักลงทุนรายย่อย หันมาเน้นลงทุนกับผลิตภัณฑ์การเงินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขานรับเป้าหมายประเทศไทยมุ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ขณะที่ล่าสุด ไทยได้มีการประกาศ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 โดยกิจกรรมเศรษฐกิจเป้าหมายกลุ่มแรก คือ ภาคพลังงานและขนส่งซึ่งก๊าซคาร์บอนรวมกันเกือบ 70% ของทั้งหมด

นายกำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภูมิภาคหลักๆ ในโลกได้จัดทำมาตรฐานกลางที่เกี่ยวข้องกับ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล(ESG) โดยระบุเงื่อนไขอย่างชัดเจนและโปร่งใสเพื่อนำไปใช้อ้างอิงในการช่วยจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจประเภทต่างๆ โดยเฉพาะหมวดธุรกิจที่มีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Green Taxonomy)

โดยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดเงินตลาดทุนไทย ควรทำความเข้าใจและนำไปปรับใช้ เนื่องจากจะช่วยให้ผู้ที่ต้องการลงทุนในโครงการหรือกองทุน ESG รวมทั้งนักลงทุนหรือสถาบันการเงินที่ต้องการปล่อยสินเชื่อให้โครงการ ประเมินได้ว่าควรลงทุนในโครงการไหน ด้วยเม็ดเงินเท่าไหร่ และรู้เท่าทันในการดำเนินการด้าน ESG อย่างแท้จริง ส่วนบริษัทจดทะเบียนที่ต้องการระดมทุนจัดทำโครงการ ก็จะสามารถชี้แจงและส่งสัญญาณให้ผู้ลงทุน หรือ สถาบันการเงินทราบได้ว่าโครงการที่กำลังระดมทุนอยู่ มีการดำเนินการอย่างจริงจังและมีผลต่อการบริหารจัดการทางด้าน ESG อย่างไร

ทั้งนี้ SCB CIO วิเคราะห์มาตรฐานด้าน Green Taxonomy ของกลุ่มประเทศต่างๆ ได้แก่ EU Taxonomy . ASEAN Taxonomy และ Thailand Taxonomy พบว่า EU Taxonomy เป็นต้นแบบกฎหมาย Green Taxonomy ของทั่วโลก ที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2020 เป็นกฎหมายกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่กิจกรรมเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี2050เน้นลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้และปกป้องทรัพยากรน้ำและทะเลอย่างยั่งยืน การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน การป้องกันและควบคุมมลพิษ และการปกป้องและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ หัวใจสำคัญของ EU Taxonomy คือต้องการจัดการปัญหาการฟอกเขียว (Greenwashing) เพื่อช่วยให้ผู้ที่มีส่วนร่วมในตลาดเงินตลาดทุน ลงทุนในสินทรัพย์ที่ยั่งยืนได้อย่างมั่นใจ ทั้งยังกำหนดหน้าที่การเปิดเผยข้อมูลเชื่อมโยงกับ Taxonomy ไว้ให้บริษัทและผู้มีส่วนร่วมในตลาดเงินต้องปฏิบัติตามด้วย

ส่วน ASEAN Taxonomy ไม่ได้เป็นกฎหมาย แต่มีลักษณะเป็นมาตรฐานกลางเพื่อให้ประเทศสมาชิกในภูมิภาคนำไปปรับใช้และดำเนินการจัดทำกฎหมายหรือข้อบังคับ Taxonomy ของประเทศตัวเอง โดยมีวัตถุประสงค์ใกล้เคียงกับ EU Taxonomy แต่มุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนคำมั่นสัญญาของกลุ่มอาเซียน ในการปฏิบัติตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) และข้อตกลงในระดับชาติ ซึ่งไม่ได้ระบุชัดเจนในประเด็นปกป้องทรัพยากรน้ำและทะเล และป้องกันควบคุมมลพิษ

สำหรับ Thailand Taxonomy มีวัตถุประสงค์การสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม 6 ข้อ ได้แก่ 1.การลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2) การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3) การใช้ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน 4) การอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ 5) การป้องกันและควบคุมมลพิษ และ 6) การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่ง Thailand Taxonomy มีการระบุกิจกรรมเศรษฐกิจที่นำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน คือ หลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเป้าหมายแรกคือ ภาคพลังงานและขนส่ง ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนรวมกันเกือบ 70% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั้งหมด

ในส่วนของประเทศไทย ได้ให้คำมั่นสัญญาในการประชุม UN Climate Change Conference ครั้งที่ 26 ว่า ไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero ) ภายในปี 2065 ขณะที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ จากการดำเนินงานภายในปี 2030 และจากการให้สินเชื่อ และการลงทุนภายในปี 2050

ทั้งนี้ Green Taxonomy จะทำให้บริษัทจดทะเบียนต้องพยายามปรับเปลี่ยนหรือดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ Taxonomy มากขึ้น ขณะที่สถาบันการเงินขนาดใหญ่มีแนวโน้มต้องมุ่งเน้นนำเสนออัตราดอกเบี้ยที่จูงใจมากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนบริษัทที่ออกตราสารหนี้ เพื่อกิจกรรมเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับTaxonomyและนักลงทุนสถาบัน จะต้องประยุกต์ใช้Taxonomyกับการออกแบบผลิตภัณฑ์การเงิน เช่น ลงทุนในกิจกรรมที่สอดคล้องกับTaxonomy นำเสนอกองทุนที่คำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG เพราะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่ยั่งยืนของสหภาพยุโรป (Sustainable Finance Disclosure Regulation)

ส่วนนักลงทุนรายย่อย หากหันมาเน้นลงทุนกับผลิตภัณฑ์การเงินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะเป็นแรงผลักดันให้ผู้ให้บริการต้องแก้ไขข้อกำหนดการบริหารพอร์ตลงทุน และการให้คำแนะนำลงทุนโดยพิจารณาเรื่องความยั่งยืน ควบคู่กับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงมากขึ้น รวมทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์สำหรับนักลงทุนรายย่อย ที่เน้นสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมหรือหลีกเลี่ยงการลงทุนที่สร้างผลกระทบในทางตรงกันข้ามกับวัตถุประสงค์ Taxonomy ซึ่งจะนำไปสู่โอกาสของบริษัทที่ดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจสอดคล้องกับ Taxonomy ในการเข้าถึงนักลงทุนรายย่อยได้มากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ