สภาพัฒน์ ชี้เดินหน้าประเทศไทยไปพร้อมกันได้ทั้งการเติบโต-สร้างความยั่งยืน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 18, 2023 17:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาพัฒน์ ชี้เดินหน้าประเทศไทยไปพร้อมกันได้ทั้งการเติบโต-สร้างความยั่งยืน

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ จัดประชุมประจำปี 2566 เรื่อง "Transitioning Thailand : Coping with the Future" นำเสนอผลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 และความก้าวหน้าการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ในช่วง 1 ปีแรก

*การพัฒนาที่ผ่านมาในช่วงแผนฯ ฉบับที่ 12

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. เปิดเผยภายใต้หัวข้อ "การพัฒนาประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านต่างๆ ในอนาคต" ว่า ผลการพัฒนาในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2565) ตามเป้าหมายของแผนฯ ทั้ง 6 เป้าหมาย สรุปได้ดังนี้

สภาพัฒน์ ชี้เดินหน้าประเทศไทยไปพร้อมกันได้ทั้งการเติบโต-สร้างความยั่งยืน
  • เป้าหมายที่ 1 การพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ พบว่า คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับการพัฒนาที่เหมาะสม โดยเด็กปฐมวัยมีพัฒนาการเต็มตามศักยภาพ สมวัย พิจารณาจากทักษะทางด้านภาษา ด้านการเจริญเติบโตของร่างกาย และการปรับตัวในสังคมเพิ่มขึ้นจาก 95.90% ในปี 60 เป็น 97.78% ในปี 65 สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 85%

อย่างไรก็ดี การออมส่วนบุคคลต่อรายได้พึงจับจ่ายใช้สอย มีแนวโน้มลดลง และผู้สูงอายุที่มีงานทำมีสัดส่วนน้อย และอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ ไทยยังมีความน่ากังวลจากอัตราการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นด้วย

  • เป้าหมายที่ 2 การลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และความยากจน พบว่า ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ และสถานการณ์ความยากจนปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนประชากรใต้เส้นความยากจน ปรับตัวลดลงจาก 7.83% ในปี 60 เหลือ 6.32% ในปี 64 ซึ่งบรรลุเป้าหมายของแผนฯ

สำหรับเศรษฐกิจฐานราก มีความเข้มแข็งและชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ จากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าสินค้าชุมชนต่อเนื่องจากปี 60 โดยรายได้จากการจำหน่ายสินค้า OTOP จำนวน 153,467 ล้านบาท เป็น 244,778 ล้านบาท ในปี 65 เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น 59.5% เมื่อเทียบจากปี 60

ขณะที่การพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา และระบบสาธารณสุขดีขึ้น แต่ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา และบริการทางการแพทย์ในพื้นที่ห่างไกล โดยด้านการศึกษาในภาพรวม พบว่า ผลคะแนนเฉลี่ยการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ทุกระดับชั้น (ป.6 ม.3 และ ม.6) ในปี 64 เพิ่มขึ้นเป็น 36.75% จาก 36.25% และ 35.97% ในปี 60 และปี 62 ตามลำดับ

  • เป้าหมายที่ 3 ระบบเศรษฐกิจมีความเข้มแข็งและแข่งขันได้ พบว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงแผนฯ 12 ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยหลายประการ เช่น มาตรการการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในปี 62 และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 63

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจของภาครัฐ ทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 64 กลับมาขยายตัวได้ 1.5% และ 2.6% ในปี 65

ส่วนภาคการท่องเที่ยว พบว่า ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 3.01 ล้านล้านบาท ในปี 62 ก่อนที่จะปรับตัวลดลงมากในปี 63 เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 แต่เริ่มกลับมาฟื้นตัว และเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 65

ทั้งนี้ เกษตรกรมีรายได้เงินสดสุทธิทางการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 58,975 บาท/ครัวเรือน ในปี 60 เป็น 78,322 บาท/ครัวเรือน ในปี 64 ซึ่งบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 59,460 บาท/ครัวเรือน รวมทั้งพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนเพิ่มขึ้น จาก 1.08 ล้านไร่ ในปี 60 เป็น 6.15 ล้านไร่ ในปี 64 ซึ่งบรรลุค่าเป้าหมายที่กำหนดให้เพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านไร่ ในปี 64

อย่างไรก็ดี ไทยมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 84,671 ล้านบาท ในปี 58 เพิ่มเป็น 208,010 ล้านบาท ในปี 63

จากข้อมูลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน โดยสถาบัน IMD ในปี 65 พบว่า ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 6,219 ล้านเหรียญสหรัฐ ใน 64 เป็น 6,647 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 65 และค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GERD/GDP) เพิ่มขึ้นจาก 1.14% ในปี 62 เป็น 1.33% ในปี 63 เข้าใกล้เป้าหมายที่กำหนดของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่ 1.5%

  • เป้าหมายที่ 4 การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พบว่า การบริหารจัดการน้ำประเทศไทยมีระบบประปาหมู่บ้านเพิ่มขึ้นจาก 94.83% ของหมู่บ้านทั้งหมด (66,764 หมู่บ้าน) ในปี 61 เป็น 95.54% ของหมู่บ้านทั้งหมด (67,264 หมู่บ้าน) ในปี 64

ส่วนต้นทุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วย (บาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) มีแนวโน้มลดลง แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูล แต่หากเปรียบเทียบปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในภาคพลังงาน พบว่า ปี 64 มีปริมาณ 23.46 ตัน CO2 ต่อจีดีพี 1 ล้านบาท โดยในช่วงปี 40-62 มีแนวโน้มลดลง ซึ่งเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ดี พื้นที่ป่าไม้ในปี 65 คิดเป็น 31.6% ของพื้นที่ประเทศ ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายของแผนที่กำหนดไว้ 40% ของพื้นที่ประเทศ และพบว่า ชนิดพันธุ์และประชากรของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในภาวะถูกคุกคาม หรือใกล้สูญพันธุ์มีจำนวนเพิ่มขึ้น การลด/ ควบคุมมลพิษ การกำจัดขยะมูลฝอย การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังเป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญ

  • เป้าหมายที่ 5 ความมั่นคง พบว่า สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีแนวโน้มดีขึ้น ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงลดลงจาก 166 ครั้ง ในปี 60 เป็น 108 ครั้งในปี 65 (ข้อมูล ณ วันที่ 13 ธ.ค. 65) สอดคล้องกับมูลค่าความเสียหายจากความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งพิจารณาจากงบประมาณในการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ที่ลดลงจาก 150.27 ล้านบาท ในปี 60 เป็น 76.15 ล้านบาท ในปี 65

นอกจากนี้ พบว่า ประเทศไทยค่อนข้างมีความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยจำนวนการถูกคุกคามทางไซเบอร์ลดลงจาก 3,237 ครั้ง ในปี 60 เหลือ 2,279 ครั้งในปี 65 อย่างไรก็ตาม ดัชนีความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์โลก (Global Cybersecurity Index) ของไทยอยู่ที่ อันดับที่ 44 ในปี 63 ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ให้อยู่ต่ำกว่าอันดับที่ 10 ของโลกภายในปี 65

  • เป้าหมายที่ 6 การพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ พบว่า สัดส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละประเภท ที่ได้รับรางวัลการบริหารจัดการที่ดีต่อองค์กรปกครองส่วนทั้งถิ่นทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 1.68% ในปี 60 เป็น 3.45% ในปี 65

ในขณะที่อันดับประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของภาครัฐไทย อยู่ในอันดับที่ 2 ของอาเซียน บรรลุเป้าหมายของแผนฯ ที่กำหนดให้ไทยอยู่ในอันดับ 2 ของอาเซียนเมื่อสิ้นสุดแผนฯ แต่ในภาพรวมประเทศไทยมีอันดับลดลง จากการจัดอันดับของ IMD พบว่า ในปี 65 ไทยมีอันดับประสิทธิภาพภาครัฐ (Government Efficiency) อยู่อันดับที่ 31 (จากทั้งหมด 63 ประเทศ/ เขตเศรษฐกิจ) ลดลงจากอันดับที่ 20 ในปี 60

*การขับเคลื่อนแผนฯ 13 ใน 1 ปีที่ผ่านมา

สำหรับการขับเคลื่อนแผนฯ 13 ใน 1 ปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินการดังนี้

  • มิติที่ 1 ภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย โดยส่งเสริมการยกระดับ Smart Product และ Smart Farming สร้างมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ส่งเสริมการพัฒนาและใช้ยานยนต์ไฟฟ้า แผนขับเคลื่อนไทยด้วยดิจิทัล ยกระดับการท่องเที่ยว ด้วยแนวคิด BCG และ Soft Power (5F) และมาตรการส่งเสริมการลงทุน และมาตรการให้วีซ่าแบบ LTR
  • มิติที่ 2 โอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม โดยการเพิ่มศักยภาพ SME พัฒนาตัวชี้วัดความยั่งยืนของเมือง จัดประชารัฐสวัสดิการ นำนักเรียน 121,050 คน กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา จัดสวัสดิการช่วยเหลือเด็กเล็กและผู้สูงอายุ และเชื่อมโยงฐานข้อมูลสวัสดิการของรัฐ
  • มิติที่ 3 ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมและนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยง การให้ความรู้ด้านการป้องกัน ลดผลกระทบ และรับมือภัยธรรมชาติ ขับเคลื่อนและยกระดับธุรกิจ SME ด้วย BCG Model และบริหารจัดการทรัพยากรและขยะอย่างเป็นระบบ มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
  • มิติที่ 4 ปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ มีการพัฒนาคนไทยในทุกช่วงวัยและทุกมิติ พัฒนาแรงงานให้มีทักษะและสมรรถนะสูง ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เปิดศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ และสนับสนุน Digital Transformation ในภาครัฐ
*ความเสี่ยงที่ประเทศไทยต้องเผชิญในอนาคต

สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ได้เผยแพร่รายงานความเสี่ยงโลก ประจำปี 2566 (Global Risks Report 2023) โดยสำรวจความเห็นผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชน ที่มีต่อความเสี่ยงโลกที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น และระยะยาว ประกอบด้วย 5 มิติ ได้แก่ มิติเศรษฐกิจ มิติสังคม มิติสิ่งแวดล้อม มิติภูมิรัฐศาสตร์ และมิติเทคโนโลยี

สำหรับความเสี่ยงกำลังเกิดขึ้น หรือคาดว่าจะเกิดภายในไม่เกิน 2 ปี คือ วิกฤตค่าครองชีพสูง เงินเฟ้อ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว การเผชิญหน้าทางภูมิรัฐศาสตร์ และการแตกความสามัคคีในสังคม และการแบ่งขั้วในสังคม

ส่วนความเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นในระยะยาว ภายในช่วง 10 ปีข้างหน้า ส่วนใหญ่เป็นวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งเกิดจากการไม่สามารถจัดการกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ ประกอบกับแรงหนุนจากแนวโน้มทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ จะนำไปสู่ความเสี่ยงจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการล่มสลายของระบบนิเวศ (Biodiversity loss and ecosystem collapse)

ขณะเดียวกัน ยังมีอาชญากรรมและความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์ (Widespread cybercrime and cyber insecurity) รวมถึงการย้ายถิ่นฐานขนาดใหญ่โดยไม่สมัครใจ (Large-scale involuntary migration) ซึ่งจะกลายเป็นภัยคุกคามใหม่ต่อเสถียรภาพของโลก

ทั้งนี้ โดยสรุป 5 ความเสี่ยงหลักส่งผลต่อความมั่นคงของโลก คือ

1. ระบบเศรษฐกิจผันผวน ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ส่งผลต่อการเกิดวิกฤตค่าครองชีพ และหนี้ครัวเรือน

2. ทรัพยากรขาดแคลน วิกฤตด้านอาหาร เชื้อเพลิง และต้นทุน ทำให้ความเปราะบางทางสังคมรุนแรงขึ้น

3. ภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ กระตุ้นให้เกิดสงครามทางเศรษฐกิจ และความขัดแย้งต่างๆ

4. สังคมเปราะบางไม่เท่าเทียม ขาดความสามารถในการฟื้นตัว การลงทุนในมนุษย์ที่ลดลง มีผลต่อการลดลงของความสามารถในการฟื้นตัวของสังคมในอนาคต

5. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ส่งผลให้ความไม่เท่าเทียมในสังคมรุนแรงขึ้น การถูกจารกรรมข้อมูลจากระบบที่ไม่ปลอดภัย ส่งผลต่อสังคมที่ทำให้ผู้คนสูญเสียทรัพย์ และส่งผลด้านภูมิรัฐศาสตร์ในด้านการก่อการร้าย

*ประเทศไทยควรเปลี่ยนผ่านไปสู่โมเดลการพัฒนาแบบใด

นายดนุชา กล่าวว่า แนวคิดการเปลี่ยนผ่านประเทศไทย ต้องพิจารณาจากความท้าทายในการเผชิญความเสี่ยงของโลก ด้วยแนวคิดการเติบโตสีเขียว (Green Growth) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงแนวคิดการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างทั่วถึง เท่าเทียม นำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่โมเดลการพัฒนาใหม่ จึงมุ่งเน้นที่การพัฒนาที่เศรษฐกิจมีการเติบโต (Growth) อย่างยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green) โดยสร้างโอกาสและความเท่าเทียมในสังคม (Inclusive) ภายใต้การบริหารจัดการที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ

"ขอฝากประเด็นสำคัญสำหรับก้าวต่อไป เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ "Inclusive Green Growth" 4 เรื่อง คือ บนโลกที่มีหลายขั้วอำนาจ ไทยควรสร้างโอกาสหรือลดความเสี่ยงอย่างไร, เศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างยั่งยืนอย่างไร ภายใต้บริบทที่ผันผวน ซับซ้อน, โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยที่ทุกคนได้รับโอกาสอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมควรเป็นเช่นไร และจะใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกในการเปลี่ยนประเทศไทย โมเดลการพัฒนาใหม่อย่างไร" นายดนุชา กล่าว
*แนวทางการดำเนินการในระยะต่อไป

นายดนุชา กล่าวว่า สิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไปหลังจากนี้ ต้องเน้นใน 4 ประเด็นหลัก คือ Productivity, Inclusivity, Immunity และ Adaptivity เนื่องจากบริบทต่างๆ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลง แต่ยังมีฐานคิดรูปแบบเดิม ทั้งเรื่องความขัดแย้ง หรือการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) สุดท้ายไทยก็ต้องมีการปรับตัว พัฒนา เพื่อตอบสนองต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ดังนั้น จึงมองว่า เรื่อง Tech War อาจเป็นประเด็นที่สำคัญมากกว่า Trade War เพราะเป็นพื้นฐานในการสร้างโอกาสในการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนา เพื่อให้สามารถก้าวต่อไปข้างหน้าได้ดีขึ้นในอนาคต

"ทั้ง 4 เรื่องสำคัญที่ต้องเดินไปให้สุดทาง โดยเฉพาะเรื่อง Inclusivity ที่จะทำให้โอกาสในการมีอาชีพ รายได้ รวมถึงโอกาสในการศึกษามีความเท่าเทียมกันมากขึ้น รวมถึงในแง่กฎหมาย การทำงานของภาครัฐ การแข่งขันเชิงธุรกิจ ก็ต้องทำให้เกิดความเป็นธรรม เพื่อสร้างโอกาสให้ทุกคน โดยเฉพาะ SMEs นอกจากนี้ ไทยต้อง Open and Connect ด้วย ไม่เช่นนั้นอาจรั้งท้าย ที่สำคัญคือเรื่องเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว แต่จะใช้และสร้างระบบ Governance อย่างไร สุดท้ายได้ข้อสรุปว่า การเดินหน้าประเทศไทย การสร้างความยั่งยืน ในลักษณะที่เดินไปในแง่ Inclusivity กับเรื่อง Green Growth นั้นสามารถไปด้วยกันได้" นายดนุชา กล่าว

แท็ก thailand   สภาพัฒน์  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ