นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ได้หารือมาตรการพักหนี้เกษตรกร และผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อจัดทำรายละเอียดมาตรการให้แล้วเสร็จภายใน 14 วัน ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ในส่วนของมาตรการพักหนี้เกษตรกร 3 ปี คาดว่าจะเรียกประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อเห็นชอบรายละเอียดกรอบดำเนินการมาตรการ และจะนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม. ในสัปดาห์หน้าทันที
ขณะที่มาตรการพักหนี้ SME เบื้องต้นจะใช้ข้อมูลกลุ่มลูกหนี้ตามรหัส 21 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นกลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3 ล้านบัญชี เป็นวงเงินสินเชื่อประมาณ 3 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้มีลูกค้าของ ธ.ก.ส. อยู่เล็กน้อย และมีลูกค้าของสถาบันการเงินของรัฐ โดยเฉพาะธนาคารออมสินเป็นส่วนใหญ่ โดยจะพักหนี้ทั้งต้นและดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 1 ปี แต่จะต้องขอเวลาทำรายละเอียด และเสนอ ครม. อย่างช้าที่สุดภายใน 1 เดือน
"จะเสนอนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้มีการตั้งคณะทำงาน โดยจะเชิญตัวแทนจาก ธปท. ออมสิน และ ธ.ก.ส. เข้ามา เพื่อกำหนดแนวทางในการพักหนี้ให้กับกลุ่ม SME ให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด เช่น จะกำหนดวงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกินเท่าใด ระยะเวลาการกู้ และจะช่วยกลุ่มใดบ้าง" นายจุลพันธ์ กล่าว
ทั้งนี้ การพักหนี้ให้ SME รอบนี้ SME ที่ร่วมมาตรการจะสามารถขอสินเชื่อใหม่ได้ เพื่อให้มีสภาพคล่องในการกลับไปดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกัน จะมีมาตรการจูงใจให้มีการชำระเงินต้นบางส่วน ซึ่งเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาพักหนี้ไปแล้ว SME ในกลุ่มนี้จะมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น มีศักยภาพในการชำระหนี้
นอกจากนี้ รัฐบาลจะมีมาตรการต่อเนื่อง ในการเพิ่มรายได้ รวมทั้งจะนำ SME กลุ่มดังกล่าว เข้ามาร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะดำเนินการในไตรมาส 1/67 เพื่อสร้างรายได้ต่อเนื่องในปีหน้าด้วย