SCB คาดบาทมีแนวโน้มแข็งค่าช่วงปลายปี แนะผู้นำเข้าป้องกันความเสี่ยงในระยะสั้น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 22, 2023 16:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส สายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า การที่เงินบาทในอ่อนค่าลงเร็วถึง 3% ในเดือนนี้เป็นผลจากทั้งปัจจัยต่างประเทศและในประเทศ คือ

1) เศรษฐกิจโลกที่มีความแตกต่างกันมากขึ้น โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวดีกว่าคาด ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปและจีนอ่อนแอกว่าคาด ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าสหรัฐฯ โดยเฉพาะในพันธบัตรรัฐบาล (US Treasury) ระยะสั้น กดดันให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าต่อเนื่อง

2) ราคาน้ำมันโลกที่ปรับสูงขึ้นเร็วส่งผลดีต่อสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันสุทธิ โดยทำให้ดุลการค้าที่ปรับดีขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลง เงินดอลลาร์จึงแข็งค่า นอกจากนี้ ไทยซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิจะได้รับผลกระทบทางลบจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มลดลง

3) ความกังวลเรื่องการขาดดุลทางการคลังของไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลวางแผนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ นักลงทุนบางส่วนจึงเริ่มกังวลว่าไทยมีโอกาสถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลง (Credit rating downgrade) จึงทำให้ความเชื่อมั่นลดลง เงินทุนไหลออก

อย่าไรก็ตาม ในช่วงปลายปีเงินบาทยังมีโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้นได้เล็กน้อย จาก

1) การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มลดลง จากราคาน้ำมันที่จะเริ่มทรงตัว และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่น่าจะชะลอลงตามการใช้จ่ายผู้บริโภค เงินออมของครัวเรือนที่ลดลง และภาระหนี้ที่สูงขึ้น

2) นโยบายสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวของไทยจะช่วยสนับสนุนดุลบัญชีเดินสะพัดได้ และแนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่อาจเข้ามามากขึ้นหลังความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลง อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจปรับแข็งค่าได้ไม่มากนัก เนื่องจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอาจไม่มากเท่าที่เคยประเมินไว้ จากราคาน้ำมันที่สูงกว่าคาดและเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอ โดยมองค่าเงินบาท ณ สิ้นปี อาจอยู่ที่กรอบราว 34.50-35.50 บาท/ดอลลาร์

สำหรับด้านกลยุทธ์นั้นแนะให้ลูกค้ากลุ่มผู้ส่งออกอาจทยอยขายเงินดอลลาร์ออกได้ในที่ระดับ 36.30 บาท/ดอลลาร์หรือเหนือกว่าได้ ส่วนลูกค้ากลุ่มผู้นำเข้าอาจรอจังหวะซื้อที่ระดับต่ำกว่า 36 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงไตรมาส 4 พร้อมทั้งอาจพิจารณาป้องกันความเสี่ยงเงินบาทอ่อนค่าผ่านการซื้อ FX options

*บอนด์ยีลด์มีโอกาสสูงขึ้นต่อ

ด้านตลาดพันธบัตรรัฐบาล นายวชิรวัฒน์ มองว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาว (bond yields) ปรับสูงขึ้นเร็ว จากความกังวลเรื่องหนี้ภาครัฐและอุปทานพันธบัตรที่อาจเพิ่มขึ้นมากเนื่องจากภาครัฐจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ประกาศแผนออกพันธบัตรรัฐบาลสำหรับปีงบประมาณ 2024 เพิ่มขึ้นจากปี 2023 ราว 1.6 แสนล้านบาท ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย อายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นราว 15 bps มาอยู่ที่ 3.15%

นอกจากนี้การส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวนานกว่าคาด (Higher for Longer) ทำให้ bond yields สหรัฐฯ ปรับสูงขึ้น จึงอาจเป็นปัจจัยกดดันต่อ bond yields ไทยเพิ่มเติมได้

ในระยะต่อไปมีโอกาสที่ Yields พันธบัตรรัฐบาลไทยอาจปรับสูงขึ้นได้อีกเล็กน้อย โดย Yields ระยะยาวอาจสูงขึ้นตาม Yields ของสหรัฐฯ และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอุปทานพันธบัตรรัฐบาลไทย เนื่องจากแผนออกพันธบัตรรัฐบาลที่จะเพิ่มอีกราว 1.6 แสนล้านบาท อาจจะยังค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับแนวโน้มการขาดดุลของภาครัฐที่จะมากขึ้น ส่วน Yields ระยะสั้นไทยอาจสูงขึ้นตามแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

"SCB FM ประเมินว่า กนง.อาจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในปีนี้ จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากทั้งฝั่งอุปสงค์ (ตามการอัดฉีดจากภาครัฐ) และอุปทาน (จากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเร็ว) โดยมองว่ามีโอกาสที่ Yields ระยะยาวจะเพิ่มขึ้นได้มากกว่าจากความกังวลเรื่องอุปทาน ทำให้ Yield curve มีแนวโน้มชันขึ้น (Bear steepening)" นายวชิรวัฒน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ