นายชัยรัตน์ สงวนชื่อ รักษาการอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ระบุขอเวลาศึกษาต้นทุนการเดินรถโดยสาธารณะอีก 10 วัน ก่อนตัดสินใจปรับเพิ่มค่าโดยสารภายในวันที่ 15 พ.ค.นี้ หลังพบต้นทุนจากราคาน้ำมันสูงถึง 50% ของต้นทุนทั้งหมด
"ขอเวลา 10 วัน เพื่อศึกษารายละเอียดต้นทุนการเดินรถ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม รวมทั้งจะได้รวบรวมข้อมูลของรถโดยสารสาธารณะที่ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ใช้เอ็นจีวีว่ามีสัดส่วนเท่าใด เนื่องจากที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบกมีข้อมูลเฉพาะรถโดยสารใหม่ที่มาจดทะเบียนเท่านั้น และจะได้จัดลำดับกลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องใช้ความช่วยเหลือก่อน คาดว่าจะได้ข้อสรุปการปรับค่าโดยสารภายในวันที่ 15 พ.ค.นี้" นายชัยรัตน์ กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะภาคเอกชน
รักษาการอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า หลังจากรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลปรับราคาสูงขึ้นต่อเนื่องแล้ว ตนเองรู้สึกเห็นใจผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันต้นทุนค่าน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของต้นทุนเดินรถทั้งหมด ขณะที่ต้นทุนที่เหมาะสมควรอยู่ที่ระดับ 30-40% เท่านั้น
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยื่นข้อเสนอให้ภาครัฐปรับเพิ่มค่าโดยสารสำหรับรถร่วมบริการ ขสมก. ประเภทรถธรรมดา 10 บาทตลอดสาย จากเดิม 8.50 บาท, รถปรับอากาศปรับเพิ่มอีกระยะละ 2 บาท หรืออยู่ที่ระดับ 14-26 บาท, รถร่วมบริการ บขส.ขอปรับค่าโดยสารเพิ่มอีก 3-9 สตางค์ต่อกิโลเมตร พร้อมทั้งขอให้ยกเว้นการจัดผลตอบแทนของ ขสมก. และ บขส. ซึ่งปัจจุบัน ขสมก.จัดเก็บผลตอบแทนสำหรับรถธรรมดา 35 บาทต่อวันต่อคัน ส่วนรถปรับอากาศ 60 บาทต่อวันต่อคัน
"ข้อมูลต้นทุนการประกอบการที่จะนำมาพิจารณาเพื่อปรับค่าโดยสารจะต้องสะท้อนความเป็นจริงในอัตราเดียวกัน ซึ่งรวมทั้งรถ บขส.และ ขสมก.ด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายยังมีความเป็นห่วงว่าหากรัฐยังสั่งตรึงราคารถโดยสารของ บขส. และ ขสมก.จะทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถแข่งขันได้จึงควรให้เป็นไปตามกลไกตลาด" นายชัยรัตน์ กล่าว
ด้าน นายฉัตรชัย ชัยวิเศษ นายกสมาคมพัฒนารถร่วมเอกชน มั่นใจว่า ไม่เกิน 15 วันหลังจากนี้จะได้รับการพิจารณาปรับเพิ่มค่าโดยสารแน่นอน เพราะทุกฝ่ายทราบถึงผลกระทบที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระจากราคาน้ำมันดีเซลแพง
"ภายในเดือนพฤษภาคมนี้จะต้องมีการปรับเพิ่มค่าโดยสารแน่นอน หากรัฐไม่ยอมหรือยื้อเวลาออกไปอีก เราคงไม่ยอมแล้ว อาจต้องหยุดเดินรถเพราะไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้" นายฉัตรชัย กล่าว
ขณะที่ นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.คมนาคม กล่าวว่า รัฐบาลไม่ต้องการยื้อเวลาในการปรับขึ้นค่าโดยสาร เพียงต้องการรวบรวมข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับต้นทุนการเดินรถของผู้ประกอบการเพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจปรับเพิ่มค่าโดยสาร ซึ่งส่วนตัวก็รู้สึกเห็นใจผู้ประกอบการแต่ก็ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
ส่วนกรณีที่สมาคมผู้ประกอบการรถยนต์โดยสารที่มี นางสุจินดา เชิดชัย เป็นนายกสมาคมฯ เสนอขอปรับเพิ่มค่าโดยสารรถร่วมบริการ บขส.อีก 9 สตางค์ต่อกิโลเมตรนั้น รมช.คมนาคม กล่าวว่า เป็นตัวเลขที่สูงเกินไป และยากที่จะมีการอนุมัติให้ได้ เพราะจะทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้รับความเดือนร้อน
และกรณีที่จะให้ปรับค่าโดยสารของรถโดยสาร บขส.และ ขสมก.ให้อยู่ในระดับเดียวกับรถร่วมเอกชนนั้นต้องพิจารณาปัจจัยหลายด้านมาประกอบกันด้วย เช่น การกำหนดค่าโดยสารที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเพื่อให้องค์กรอยู่ได้ และการแบ่งเบาภาระของประชาชน
--อินโฟเควสท์ โดย คคฦ/ธนวัฏ/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--