นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาลระยะที่ 1 รวมถึงการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าว ภายใต้หลักการ "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรระยะเวลา 3 ปี ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา
1. มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล โดยเกษตรกรลูกค้ารายย่อย ธ.ก.ส. จำนวน 2.698 ล้านราย ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท และมีสถานะเป็นหนี้ปกติและ/หรือเป็นหนี้ค้างชำระ (หนี้ 0 - 3 เดือน) และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans : NPLs) ราว 6 แสนราย มูลหนี้ 3.6 หมื่นล้านบาท ได้รับสิทธิ์ในการพักชำระหนี้ระยะแรก ดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่ 1 ต.ค.66 ถึง 30 ก.ย.67
โดยเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ต้องการรับสิทธิ สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวได้ตามความสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.66 ถึงวันที่ 31 ม.ค.67
ทั้งนี้ สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะเป็น NPLs จะสามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้ เมื่อได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธ.ก.ส. แล้ว
2. การพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าว ภายใต้หลักการ "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้" เพื่อเป็นการบรรเทาภาระหนี้สินเกษตรกรอย่างบูรณาการ ธ.ก.ส. ร่วมกับส่วนงานราชการ และหน่วยงานภายนอกดำเนินการอบรมเกษตรกรคู่ขนานไปกับมาตรการพักชำระหนี้ที่ได้เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรในการนำเงินไปลงทุนปรับเปลี่ยนหรือขยายการประกอบอาชีพ โดยการอบรมอาชีพเกษตรกรจะช่วยฟื้นฟูเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีศักยภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน มุ่งสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต พร้อมทั้งเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมวินัยการเงินซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง คาดว่า มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรดังกล่าว จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มสภาพคล่องให้เกษตรกรรายย่อยให้สามารถมีรายได้เหลือเพียงพอต่อรายจ่ายที่จำเป็นในครัวเรือน รวมถึงมีโอกาสขยายการลงทุนในการประกอบอาชีพและการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน การพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ซึ่ง ธ.ก.ส. ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภายนอกอย่างบูรณาการ จะช่วยยกระดับการดำรงชีพของเกษตรกรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อันจะนำไปสู่การเพิ่มกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจฐานราก เพื่อสร้างความมั่นคงของเกษตรกร และเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนต่อไป
"ได้มีการพูดคุยกับ ธปท. และ ธปท.เองก็มีความเห็นเกี่ยวกับโครงการนี้ โดยระบุว่า ไม่อยากเห็นโครงการที่ผูกพันระยะยาว เราจึงดำเนินการเป็นเฟส อนุมัติเป็นรายปี และ ธปท. ไม่อยากเห็นดำเนินการแบบหว่านแห เราจึงเปิดให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการแบบสมัครใจ ส่วนเรื่องงบประมาณที่จะใช้ในโครงการตลอด 3 ปี ประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยปีละราว 1.1-1.2 หมื่นล้านบาท แต่งบที่ใช้จะเป็นไปตามที่ใช้จริง อยากให้ทุกฝ่ายไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกังวลว่าเงินจะหายไปไหน และรัฐบาลหวังว่าเกษตรกรจะแห่เข้าโครงการนี้เต็มเกือบ 100% ยืนยันว่าเรื่องตัวเงินไม่ต้องเป็นห่วง" นายจุลพันธ์ กล่าว
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.มีมติว่าตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.66 - 30 ก.ย.67 จะพักชำระหนี้ให้เกษตรรายย่อย (หนี้เงินต้นไม่เกิน 3 แสนบาท) ราว 2.7 ล้านราย คิดเป็นยอดหนี้เงินต้นที่จะพักชำระหนี้ รวมประมาณ 2.83 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนเกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส.ที่เข้าร่วมมาตรการในอัตรา 4.50% ต่อปี
"จะพักชำระหนี้ให้ทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ 4.5% ของวงเงิน 2.83 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นงบประมาณ 11,000 ล้านบาท นี่เป็นปีต่อปี กระทรวงการคลังเสนอมาแค่ปีแรกก่อน" นายชัย ระบุ
นายชัย กล่าวว่า การพักหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย 2.7 ล้านรายนี้ ถือว่าครอบคลุมกลุ่มใหญ่สุดที่มีหนี้รายละไม่เกิน 3 แสนบาท และในจำนวน 2.7 ล้านรายนี้ คงไม่ใช่ทุกรายที่จะไม่มีศักยภาพในการชำระหนี้ ดังนั้น เกษตรกรรายใดยังมีความสามารถในการชำระหนี้ต่อไปได้ รัฐบาลจะมี incentive ให้ คือ ถ้าชำระหนี้ได้ จะตัดเงินต้นให้ทั้งหมด ส่วนดอกเบี้ยรัฐบาลจ่ายให้ และยังแถมสลากฯ ให้ด้วย ซึ่งถ้าถูกสลากฯ ก็สามารถนำไปตัดยอดหนี้ได้อีก ดังนั้น เกษตรกรที่มีวินัยการเงินดี จะได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ของรัฐบาล
"เป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะเลือกช่วยรายย่อยก่อน และเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด ซึ่ง ธ.ก.ส.รายงานมาเป็น level เราดูแล้วว่าให้สอดคล้องกับงบประมาณในปีแรก คือ กลุ่มที่เราจะช่วยเหลือได้ cover มากที่สุด คือ กลุ่มที่มีหนี้ไม่เกิน 3 แสนบาท ซึ่งรวมเป็นยอดหนี้ทั้งหมด 2.83 แสนล้านบาท...การพักชำระหนี้ 3 ปีแน่นอน แต่เราของบไว้เป็นรายปี" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ
นายชัย กล่าวว่า ในการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกร 13 ครั้งที่ผ่านมานั้น ยังขาดแผนการติดตามผลของการพักชำระหนี้ และแผนการสร้างรายได้ใหม่ให้เกษตรกร ดังนั้นในการพักชำระหนี้ในครั้งนี้ รัฐบาลจึงมีแผนพัฒนาศักยภาพลูกหนี้ โดยการจัดอบรมเพื่อส่งเสริมฟื้นฟูการประกอบอาชีพแก่ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการด้วย ซึ่งในส่วนนี้จะใช้งบประมาณอีกราว 1 พันล้านบาท
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า โครงการพักหนี้เกษตรกรจะให้เกษตรกรแจ้งความต้องการเข้าร่วมโครงการผ่านแอปพลิเคชัน BAAC Mobile หลังจากนั้นระบบจะตรวจสอบคุณสมบัติ หากผ่านเกณฑ์จะแจ้งเตือนไปที่แอปพลิเคชันเพื่อให้เกษตรกรมาทำสัญญาเข้าร่วมโครงการ โดยลูกหนี้ที่ได้เข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิย้อนหลังในการพักชำระต้นและดอกเบี้ย ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 66 ขณะเดียวกัน ธ.ก.ส. จะมีมาตรการเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรอีกจำนวนมาก โดยโครงการหลักคือ การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นกลไกให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับใช้ในการประกอบอาชีพต่อไปได้ โดยจะพิจารณาให้กู้ตามศักยภาพการชำระหนี้คืนของเกษตรกร ไม่เกินรายละ 1 แสนบาท