คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.25% เป็น 2.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันที พร้อมปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 66 เหลือ 2.8% จากเดิม 3.6% ก่อนจะพุ่งเป็น 4.4% ในปี 67
นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ กนง. เปิดเผยว่า คณะกรรมการ กนง.ประเมินว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมาจนถึงการประชุมครั้งนี้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว ส่วนการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่อาจได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐ
กนง. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แม้จะขยายตัวชะลอลงในปีนี้จากอุปสงค์ต่างประเทศ โดยอัตราการขยายตัวในปี 67 จะเพิ่มสูงขึ้นจากทั้งอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ ด้านอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 67 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับ แรงกดดันด้านอุปทานจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทั้งนี้ ต้องติดตามแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ
"คณะกรรมการฯ ประเมินว่า ในบริบทที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ นโยบายการเงิน ควรดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน และช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้" นายปิติ ระบุ
ที่ประชุม กนง. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 66 มีแนวโน้มขยายตัว 2.8% ลดลงจากเดิมที่คาดไว้ 3.6% และเศรษฐกิจไทยปี 67 ที่ 4.4% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ 3.8% โดยมีแรงส่งสำคัญจากการบริโภคภาคเอกชน สำหรับปีนี้การขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอลงจากภาคการส่งออกสินค้า และภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจจีนและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ฟื้นตัวช้า
อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย จะเร่งสูงขึ้นในปี 67 จากอุปสงค์ในประเทศ ภายใต้บริบทที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง และภาคการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว อีกทั้งจะได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐ
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยคาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 1.6% และปี 67 อยู่ที่ 2.6% โดยเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำในปี 66 จากผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ และผลของฐานที่สูงในปีก่อนหน้า
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 1.4% และมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2.0% ในปี 67 ทั้งนี้ ยังต้องติดตามความเสี่ยงด้านสูง โดยเฉพาะจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้นจากนโยบายภาครัฐ และต้นทุนราคาอาหารที่อาจปรับสูงขึ้นหากปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงกว่าคาด
นายปิติ กล่าวด้วยว่า ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุน และเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ต้องติดตามพัฒนาการของคุณภาพสินเชื่อที่อาจได้รับแรงกดดันจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนที่ยังเปราะบางจากภาระหนี้ที่สูงขึ้น และรายได้ที่ฟื้นตัวช้า
คณะกรรมการฯ สนับสนุนการดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการเฉพาะจุด และแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)
ด้านภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้นบ้าง แต่ยังเอื้อต่อการระดมทุนของภาคเอกชน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนโน้มสูงขึ้น สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่สินเชื่อภาคเอกชนชะลอลง หลังจากที่เร่งไปมากในช่วงวิกฤต แต่ประเมินว่าจะฟื้นตัวสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ด้านตลาดการเงินมีความผันผวนสูงขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับเพิ่มขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ส่วนหนึ่งตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกอบกับนักลงทุนรอความชัดเจนของนโยบายภาครัฐ ที่อาจมีนัยต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพด้านการคลังในอนาคต