นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมเตรียมการและข้อมูลระบบคมนาคมขนส่งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก เมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาคนั้น กระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดภูเก็ต และพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีแผนการดำเนินงานที่จะขยายขีดความสามารถของท่าอากาศยานภูเก็ตในการรองรับผู้โดยสารให้ได้ถึง 18 ล้านคนต่อปี จากเดิมรองรับผู้โดยสารได้เพียง 12.5 ล้านคนต่อปี มุ่งเน้นมาตรการด้านความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยว พร้อมเพิ่มการให้บริการด้วยความสะดวกรวดเร็ว เชื่อมต่ออย่างบูรณาการจากท่าอากาศยานเข้าสู่เมือง และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางถนน ให้มีความคล่องตัว และมีประสิทธิภาพ
สำหรับแผนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ได้แก่ การพัฒนาโครงข่ายทางเลี่ยงเมืองภูเก็ต หรือทางหลวงหมายเลข 4027 กม. 14+300 - กม. 18+850 ให้เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 4.55 กิโลเมตร (กม.), การพัฒนาถนนแนวใหม่ 4 ช่องจราจร กม. 18+850 - กม. 20+800 เชื่อมทางหลวงหมายเลข 4027 และท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะทาง 1.95 กม., การก่อสร้างทางแยกต่างระดับแก้ปัญหาการจราจรบริเวณอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี - ท้าวศรีสุนทร หรืออุโมงค์ท่าเรือที่จุดตัดทางหลวงหมายเลข 402 กับทางหลวงหมายเลข 4027
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาความเหมาะสมเพื่อพัฒนาทางหลวงแนวใหม่ สายบ้านป่าคลอก - บ้านบางคู ระยะทาง 5 กม. พร้อมบูรณาการร่วมกับการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษ (ทางด่วน) ในโครงการทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงกะทู้ - ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 และเปิดให้บริการได้ในปี 2571 และระยะที่ 2 ช่วงเมืองใหม่ - เกาะแก้ว - กะทู้ ระยะทาง 30.62 กม. คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2570 และเปิดให้บริการได้ในปี 2573 ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะลดเวลาในการเดินทางในเมืองจากเดิม 1.30 - 2 ชม. เหลือเพียง 20 นาที ช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดและสามารถรองรับปริมาณการเดินทางและคมนาคมขนส่งที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกัน จะพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP) สาย MR9 สุราษฎร์ธานี - ภูเก็ต ระยะทาง 236 กม. ที่จะพัฒนาในอนาคต อีกทั้ง ได้กำหนดแผนดำเนินการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนภายในเมืองภูเก็ต สายสถานีรถไฟท่านุ่น - ท่าอากาศยานภูเก็ต - ห้าแยกฉลอม รวมระยะทาง 58.5 กม. ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบการดำเนินโครงการ รวมถึงโครงการรถไฟทางไกลระหว่างเมือง สายท่าอากาศยานภูเก็ต - ท่าอากาศยานกระบี่ ระยะทาง 149 กม. เชื่อมระหว่างภูเก็ต พังงา และกระบี่ รวมถึงสายสุราษฎร์ธานี - ท่านุ่น ระยะทาง 163 กม. เชื่อมโยงจังหวัดภูเก็ตกับทางรถไฟสายใต้ไปยังโครงข่ายรถไฟทั่วประเทศ เพื่อให้การเดินทางด้วยระบบราง มีความสะดวก รวดเร็ว และทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนคนไทยและนักท่องเที่ยว เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับจังหวัดภูเก็ตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่แล้ว ยังทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องยั่งยืนตลอดไป