นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการคลังเดือน ส.ค.66 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย การส่งออกสินค้าที่กลับมาขยายตัวเป็นบวก และอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและผลกระทบต่อภาคการส่งออกสินค้าของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2566 ต่อไป
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณทรงตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน:
โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ในเดือน ส.ค.66 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 4.9% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -8.3%
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือนส.ค. 66 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 56.9 จากระดับ 55.9 ในเดือนก่อน เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นว่าการจัดตั้งของรัฐบาลใหม่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ และปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนส.ค. 66 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน -15.1% และ -5.5% ตามลำดับ รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -1.7%
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณทรงตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน:
โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนส.ค. 66 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 0.2% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -2.4% ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -19.9%
สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนส.ค. 66 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 5.4% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 1.2% ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -2.5% และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -0.1%
มูลค่าการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน:
โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนส.ค. 66 อยู่ที่ 24,279.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 2.6% และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า เพิ่มขึ้นที่ 3.9% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของสินค้าในหมวดอุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องโทรศัพท์อุปกรณ์และส่วนประกอบ โดยขยายตัว 74.5% 59.1% 39.8% และ 36.9% ตามลำดับ
นอกจากนี้ สินค้าในหมวดผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง สิ่งปรุงรสอาหาร ผักกระป๋องและผักแปรรูป และนมและผลิตภัณฑ์ ขยายตัว 99.8% 28.6% 26.5% และ 13.2% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การส่งออกยางพารา น้ำตาลทราย และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังยังคงชะลอตัว
เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะทวีปออสเตรเลีย สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ที่ขยายตัว 22.4% 21.7% และ 15.7% ตามลำดับ รวมทั้งตลาดจีนที่กลับมาขยายตัวที่ 1.9% นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มตลาดอื่น ๆ ที่ขยายตัวได้ดี อาทิ กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States: CIS) ที่ขยายตัว 30.4%
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนจากภาคเกษตร และภาคบริการ:
โดยภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม ในเดือนสิงหาคม 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 2.1% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 0.3% จากการขยายตัวของผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ โดยเฉพาะสุกร และหมวดไม้ผล
สำหรับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 91.3 จากระดับ 92.3 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากมีความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว
ส่วนภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนส.ค. 66 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน 2.47 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 107.7% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -8.2% โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย จีน เกาหลีใต้ อินเดีย และเวียดนาม ตามลำดับ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนสิงหาคม 2566 จำนวน 20.1 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 20.5% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -6.2%
เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี:
สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ 0.88% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.79% ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2566 อยู่ที่ 61.7% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 อัตราการว่างงาน ในเดือนสิงหาคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม และผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ ในเดือนส.ค. 66 อยู่ที่ 0.63% ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งหมด
สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนส.ค. 66 อยู่ในระดับสูงที่ 216.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ