SCB EIC มองกนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยสู่ Neutral rate ปิดฉากดอกเบี้ยขาขึ้น คาดคงยาวถึงปีหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 28, 2023 13:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของไทยสิ้นสุดแล้ว หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ Neutral rate และจะคงดอกเบี้ยต่อเนื่องไปในปีหน้า โดย กนง.ได้ดำเนินการปรับทิศทางนโยบายการเงินของไทยให้กลับเข้าสู่ระดับปกติ (Monetary policy normalization) ที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวแล้ว ผ่านการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง 8 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 2.0% สู่ Terminal rate ที่ 2.5% ซึ่งน่าจะเป็นระดับ Neutral rate (ระดับอัตราดอกเบี้ยที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับศักยภาพและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% อย่างยั่งยืน) ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real interest rate) ของไทยกลับมาเป็นบวก ซึ่งจะช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาวผ่านการป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน

โดยคาด กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับปัจจุบันต่อเนื่อง หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นไปตามที่ประเมินไว้ เพื่อให้กลไกดอกเบี้ยนโยบายส่งผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากในปี 2567 แม้เศรษฐกิจและเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งขึ้น แต่เศรษฐกิจจะยังเติบโตได้ในระดับศักยภาพ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ Neutral rate ยังเหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทยในปีหน้า หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากอาจมีแรงส่งเพิ่มเติมของนโยบายภาครัฐ มุมมองการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าอาจเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมต่อไป

SCB EIC คาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ 3.1% และ 3.5% ในปี 2566 และ 2567 โดยปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ลงเหลือ 3.1% เนื่องจากข้อมูลจริงในไตรมาส 2 ออกมาต่ำกว่าคาดมากจากการส่งออกสินค้าที่หดตัวแรงต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี

เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังมีแรงหนุนหลักจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยจะฟื้นตัวได้ดีตามประมาณการที่ 30 ล้านคน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางที่เร่งตัวและเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายใหม่ ส่งผลให้ภาคบริการของไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในปี 2567 โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเร่งขึ้นที่ 3.5% จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องเป็น 37.7 ล้านคน และการลงทุนภาคเอกชนที่จะขยายตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการอนุมัติการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment) รวมถึงการส่งออกที่จะกลับมาฟื้นตัว

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้ แต่จะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1.7% และ 2% ในปี 2566 และปี 2567 ตามลำดับ เนื่องจากราคาพลังงานและราคาอาหารมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัวที่ 1.4% และ 1.5% ในปีนี้และปีหน้าตามลำดับ คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ 3.1% และ 3.5% ในปี 2566 และ 2567

เมื่อวานนี้ (27 ก.ย.) กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.25% เป็น 2.5% ต่อปี ขณะที่เศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัวแม้จะขยายตัวชะลอลงในปีนี้จากอุปสงค์ต่างประเทศ โดยอัตราการขยายตัวในปี 2567 จะเพิ่มสูงขึ้นจากทั้งอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ ด้านอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2567 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแรงกดดันด้านอุปทานจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทั้งนี้ต้องติดตามแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ โดย กนง.ประเมินว่าในบริบทที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ นโยบายการเงินควรดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืนและช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า

กนง.มองว่า การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมาจนถึงการประชุมครั้งนี้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว ทั้งนี้การดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่อาจได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐ

ขณะที่วัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มสิ้นสุดลงแล้วเช่นกัน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในหลายประเทศเริ่มปรับชะลอตัวลง ขณะที่ตลาดแรงงานเริ่มลดความร้อนแรงลง ส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มปรับลดลงมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ธนาคารกลางในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก (FED ECB และ BOE) จึงมีแนวโน้มคงดอกเบี้ยไว้ในระดับปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักยังมีแนวโน้มอยู่สูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารกลางที่ 2% ส่งผลให้ SCB EIC คาดว่าธนาคารกลางในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับสูงต่อเนื่องจนถึงปีหน้า เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่ยังอยู่สูงกว่ากรอบเป้าหมาย และจะเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 หลังอัตราเงินเฟ้อได้ปรับลดลงเข้าใกล้กรอบเป้าหมายที่ 2% มากขึ้น ทั้งนี้คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักจะยังอยู่สูงกว่าระดับ Neutral rate ไปจนถึงปี 2568

ธนาคารกลางในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 อัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงนานต่อเนื่อง (Higher for longer) มีแนวโน้มกดดันเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ 2.4% ในปี 2566 และชะลอตัวลงเล็กน้อยสู่ 2.3% ในปี 2567 แม้ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ดีกว่าคาด แต่มีแนวโน้มเปราะบางต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 จนถึงปีหน้า จากผลของอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับเข้มงวด (Restictive) ภาวะสินเชื่อที่ตึงตัว รวมถึงเงินออมส่วนเกินที่เริ่มหมดลง ซึ่งจะกดดันการลงทุนและการบริโภคส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ