ทีดีอาร์ไอหนุนรัฐปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอิงเงินเฟ้อแต่ละพื้นที่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 30, 2008 18:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) สนับสนุนให้รัฐบาลอนุมัติการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยมีแรงงานภาคเกษตรนอกระบบกว่า 23 ล้านคนที่มีความเป็นอยู่อย่างลำเค็ญ
"การปรับอัตราค่าจ้างควรเป็นไปตามฐานที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแล้วไปอ้างอิงกับอัตราเงินเฟ้อ โดยควรจะปรับเพื่อให้ลูกจ้างมีชีวิตความเป็นอยู่เท่ากับค่าครองชีพ" นายวรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสประจำทีดีอาร์ไอ กล่าว
นายวรวรรณ ไม่เห็นด้วยที่จะปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 9 บาททั่วประเทศ เนื่องจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐานของแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน ดังนั้นการปรับอัตราค่าจ้างจึงควรปรับตามฐานที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยอ้างอิงกับอัตราเงินเฟ้อ เช่น กรุงเทพฯ มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 194 บาท ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 5% ดังนั้นอัตราใหม่ก็ควรจะเป็น 210 บาท
ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็มีการปรับราคาสินค้าขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราค่าจ้างเท่าเดิม ซึ่งหากมีการอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำก็เป็นส่วนหนึ่งที่เจ้าของธุรกิจต้องปรับตัวและบริหารจัดการให้ได้
"ในระยะต้นภาคธุรกิจต้องพยายามที่จะปรับตัว ซึ่งภาคธุรกิจของไทยนั้นมีศักยภาพการแข่งขันพอสมควร แต่ในที่สุดก็จะปรับตัวได้เพราะว่าการเพิ่มของแรงงานขั้นต่ำก็ไม่ได้มาก เนื่องจากอัตราที่ผู้ใช้แรงงานต่อรองไม่ได้เกินอัตราเงินเฟ้อ" นายวรวรรณ กล่าว
ด้านนางธนนุช ตรีทิพยบุตร เลขาธิการสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเปลี่ยนจากสังคมเกษตรเป็นสังคมอุตสาหกรรม ทำให้แรงงานภาคเกษตรย้ายไปสู่ภาคอุตสาหกรรมเพราะค่าตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งในจำนวนแรงงานภาคเกษตรทั้งหมด 36.72 ล้านคน เป็นแรงงานในระบบที่มีสวัสดิการประกันรายได้และสุขภาพรองรับเพียง 13.84 ล้านคน หรือคิดเป็น 37.3% ส่วนที่เหลืออีก 23.28 ล้านคน หรือคิดเป็น 62.7% เป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่มีสวัสดิการประกันรายได้และสุขภาพรองรับ
"แรงงานเหล่านี้ไม่มีหลักประกันสุขภาพและสวัสดิการ ต้องเผชิญปัญหาสารพิษตกค้าง อุบัติเหตุจากเครื่องจักร ตาบอด หูหนวก" นางธนนุช กล่าว
นอกจากนี้ เกษตรกรที่มีที่ดินทำกินมีรายได้ 12,000 บาท/เดือน/ครัวเรือน และมีหนี้สิน 107,000 บาท/ครัวเรือน ขณะที่เกษตรกรที่เป็นลูกจ้างมีรายได้ 9,700 บาท/เดือน/ครัวเรือน และมีหนี้สิน 60,000 บาท/ครัวเรือน โดยหนี้สินส่วนใหญ่เกิดจากการลงทุนทำการเกษตรเป็นอันดับแรก ตามมาด้วยหนี้จากการอุปโภคและบริโภค

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ