พล.อ.สิทธิชัย มากกุญชร โฆษกประจำ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) กสทช . ในวันที่ 4 ต.ค.นี้ มีวาระที่ค้างจากการพิจารณาของการประชุมบอร์ด เมื่อวันที่ 21 ก.ย. คือ เรื่องการนำเสนอรายชื่อผู้ที่ผ่านการ คัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ กสทช.คนใหม่ เข้าสู่การพิจาณาของบอร์ดด้วย หลังจากเรื่องดังกล่าวยังไม่สามารถเสนอให้บอร์ด กสทช.พิจารณาลงมติได้ เนื่องจากบอร์ด กสทช.มีความเห็นไม่ตรงกัน ที่ผ่านมา บอร์ด กสทช. 4 คน ประกอบด้วย พล.อ.ท.ธนพันธ์ หร่ายเจริญ ,น.ส.พิรงรอง รามสูต , นายศุภัช ศุภชลาศัย และนายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ได้ส่งบันทึกข้อความถึง ประธานกสทช. คัดค้านวาระตั้งเลขาธิการกสทช. ว่ากระบวนการสรรหาไม่ถูกต้อง น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย
"การประชุมบอร์ดครั้งก่อนเมื่อวันที่ 21 ก.ย.มีเรื่องพิจารณาหลายเรื่องทำให้ไม่ถึงวาระเสนอรายชื่อเลขาธิการ กสทช.คนใหม่ การประชุมในวันที่ 4 ต.ค. จึงเป็นวาระตกค้างที่ประธาน กสทช.อาจจะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา แม้ว่าจะมีการคัดค้าน ไม่เห็นด้วยของบอร์ดบางราย แต่นายสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เป็นคนที่ประนีประนอม เชื่อว่าจะสามารถหาทางออกร่วมกันของบอร์ดที่จะหาจุดที่เหมาะสมในเรื่องนี้ได้ เพื่อที่จะหาคนที่สามารถทำงานกับบอร์ดทั้ง 7 คนได้"
สำหรับเรื่องการรวมธุรกิจระหว่างบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส กับ บมจ.ทริปเปิลทรี บรอดแบนด์ (3BB) นั้นที่มีกระแสข่าวว่าจะมีการจัดประชุมบอร์ดวาระพิเศษเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ในวันที่ 5 ต.ค.นั้น พล.อ.สิทธิชัย กล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ คงต้องดูว่าจะมีการบรรจุเป็นวาระพิจารณาของบอร์ดในวันที่ 4 ต.ค.นี้ ด้วยหรือไม่ซึ่งหากมีจะถูกบรรจุในวาระอื่น
อย่างไรก็ตามในการประชุมในวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมาบอร์ดหลายคนเห็นว่า ควรรอผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาทั้งในและต่างประเทศก่อน ซึ่งกำหนดจะแล้วเสร็จ ในช่วงต้นเดือน ต.ค.นี้ และเห็นว่าควรจะจัดเป็นการประชุมนัดพิเศษเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวเพียงเรื่องเดียว เพราะคาดว่าจะต้องใช้เวลาพิจารณากันนานเหมือนกรณีดีลของทรูและดีแทค แต่คงต้องรอในการประชุมวันที่ 4 ต.ค.นี้ก่อนหากมีการบรรจุเป็นวาระแทรก บอร์ดอาจเห็นว่าเวลาไม่พอ ก็อาจจะมีการให้ประชุมนัดพิเศษ และกำหนดวันที่ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง
"บอร์ด กสทช. อยากให้กระบวนการพิจารณาเรื่องรวมธุรกิจระหว่าง เอไอเอส กับ 3BB ให้มีกระบวนการเช่นเดียวกับกรณีของ ทรูและดีแทค จึงมีบอร์ดบางท่านเสนอให้มีการประชุมเป็นวาระพิเศษเรื่องเดียวเพื่อให้มีเวลาในการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะหากนำมาพิจารณาในวาระปกติ แต่ละเรื่องที่เข้ามามีการใช้เวลาพิจารณานาน และควรจะรอผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาก่อน เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเลือกปฎิบัติ เพราะกรณีของทรูและดีแทค ยังต้องรอผลของที่ปรึกษามาใช้ร่วมพิจารณาด้วยเช่นกัน"