ธปท.เผยเศรษฐกิจไทย ส.ค. ฟื้นตามท่องเที่ยวดีต่อเนื่อง แม้ส่งออก-บริโภค-ลงทุนเอกชนชะลอ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 29, 2023 14:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธปท.เผยเศรษฐกิจไทย ส.ค. ฟื้นตามท่องเที่ยวดีต่อเนื่อง แม้ส่งออก-บริโภค-ลงทุนเอกชนชะลอ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนส.ค.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัวตามรายรับในภาคการท่องเที่ยว อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนชะลอลงบ้าง หลังจากเร่งขยายตัวในเดือนก่อน มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำลดลง ส่วนหนึ่งจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าชะลอตัว ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัว สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐยังคงขยายตัวจากรายจ่ายประจำ

นายสักกะภพ พันธ์ยากูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน ลดลงจากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนหลังจากเร่งไปในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายในหมวดบริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหมวดโรงแรมและภัตตาคาร ตามการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ

ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนปรับดีขึ้น ทั้งการจ้างงานนอกภาคเกษตร รวมถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่กลับมาเพิ่มขึ้น หลังการจัดตั้งรัฐบาลมีความชัดเจนมากขึ้น

ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนลดลงจากเดือนก่อน ตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุน อย่างไรก็ดี การลงทุนในหมวดก่อสร้างเพิ่มขึ้นตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ขณะที่พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างลดลง หลังเร่งไปมากในเดือนก่อน

สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำ ลดลงจากเดือนก่อน โดยการส่งออกหมวดสินค้าเกษตรแปรรูป ลดลงตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง ขณะที่หมวดสินค้าเกษตรลดลงตามการส่งออกทุเรียนไปจีน หลังจากหมดฤดูเก็บเกี่ยว อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าบางหมวดปรับดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ด้านมูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำลดลงจากเดือนก่อน ตามการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง รวมทั้งเชื้อเพลิง โดยเฉพาะชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และน้ำมันดิบ อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าอุปโภคและบริโภคปรับเพิ่มขึ้น ตามการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากจีน

ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการผลิตหมวดที่ปรับดีขึ้นได้แก่ 1) หมวดอาหารและเครื่องดื่มตามการผลิตน้ำตาล 2) หมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ตามรอบการผลิต และ 3) หมวดเคมีภัณฑ์ตามการผลิตปุ๋ยเคมี อย่างไรก็ตาม การผลิตสินค้าหมวดยานยนต์ลดลง จากการผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถกระบะหลังเร่งผลิตไปในช่วงก่อนหน้า

นายสักกะภพ กล่าวว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลงจากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลง ส่งผลให้ชาวจีนมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวในหลายสัญชาติปรับเพิ่มขึ้น อาทิ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เยอรมนี และออสเตรเลีย ตามอุปสงค์การเดินทางท่องเที่ยวที่ยังมีต่อเนื่อง สำหรับรายรับภาคการท่องเที่ยวยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลจากจำนวนวันพักของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ

ด้านการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน ขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากรายจ่ายประจำตามการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนบุคลากร รวมถึงเงินบำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัว ตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคม หลังเบิกจ่ายไปแล้วในช่วงก่อนหน้า สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวจากผลของฐานสูง ตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคในปีก่อน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากหมวดพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันเบนซิน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและหมวดอาหารสดปรับลดลง ตามราคาอาหารสำเร็จรูป และราคาเนื้อสุกรตามอุปทานในตลาดที่เพิ่มขึ้น ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากดุลการค้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ขาดดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน

นายสักกะภพ กล่าวว่า ในเดือนส.ค. อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยอ่อนค่าลง เนื่องจาก 1) ตลาดปรับเพิ่มการคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ 2) การอ่อนค่าของค่าเงินหยวน ตามตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ต่ำกว่าตลาดคาด และ 3) ตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่ออกมาต่ำกว่าตลาดคาด จึงส่งผลให้เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ค่าเงินบาทในเดือนก.ย. เฉลี่ยอยู่ที่ 35.69 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยในประเทศที่เพิ่มเติมเข้ามา คือ นักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลใหม่ ซึ่งจะมีนัยที่สำคัญต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพการคลังในอนาคต จึงทำให้เงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับภูมิภาค

"ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยเดือนส.ค. ยังอยู่ในทิศทางที่ฟื้นตัว โดยยังมีภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชนเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ โดยภาคการท่องเที่ยว เป็นแรงส่งให้กิจกรรมในภาคบริการ และการบริโภคเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์ด้านการส่งออก เนื่องจากยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนของอุปสงค์จากต่างประเทศ" นายสักกะภพ ระบุ
*แนวโน้มเศรษฐกิจเดือนก.ย.

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือนก.ย. คาดว่ายังคงขยายตัวตามอุปสงค์ในประเทศ และภาคการท่องเที่ยว ซึ่งระยะต่อไปมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คือ 1) การฟื้นตัวของภาคการส่งออก 2) นโยบายของรัฐบาล และ 3) ผลกระทบของเอลนีโญต่อผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร

นายสักกะภพ ยังกล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 4/66 ว่า การบริโภคยังมีแนวโน้มที่ดี ตลอดจนมุมมองเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ จนถึงปี 67 ยังมีทิศทางที่ฟื้นตัวได้ ซึ่งถ้าการส่งออกสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ดีในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ก็จะทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจกลับมาได้อย่างเต็มที่ทั้งด้านการส่งออก การบริโภค และนโยบายภาครัฐ

"เครื่องชี้เศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ช่วงไตรมาส 4 ไปถึงปี 67 ยังมีทิศทางที่ฟื้นตัว ถ้าการส่งออกกลับมาดีในปลายปีนี้ ถึงต้นปี 67 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็จะกลับมาได้ครบครัน ทั้งการส่งออก การบริโภค นโยบายรัฐ องค์ประกอบในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็จะมีมากขึ้นกว่าปีนี้" นายสักกะภพ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ