นายเผ่าภูมิ เลขานุการ รมว.คลัง ยืนยันว่า กระทรวงการคลังยังไม่มีนโยบายในการพิจารณาภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมจากการขายหุ้น (Financial Transaction Tax) และยังไม่มีนโยบายที่จะพิจารณาภาษีกำไรที่เกิดจากการขายหุ้น (Capital Gain Tax) เพื่อชี้แจงกรณีที่น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ออกมาโพสต์ถึงประมาณการรายได้ปี 67 ที่เพิ่ม 30,000 ล้านมาจากการที่รัฐบาลจะเก็บภาษีขายหุ้น 14,000 ล้านบาท
โดยทั้ง 2 ส่วนนี้จะเป็นคำตอบที่ชัดเจนจากกระทรวงการคลังที่จะทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความสบายใจ มีเสถียรภาพ และสามารถวางแผนการลงทุนในระยะยาวได้
"หนึ่งในมาตรการที่มีผลโดยตรงต่อตลาดหุ้นไทย คือนโยบายด้านภาษี อยากเห็นตลาดทุนไทยเป็นอิฐก้อนแรกของระบบเศรษฐกิจไทยในการสร้างภาคเอกชน สร้างระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยภาคเอกชนให้สามารถเติบโตไปได้...คลังอยากเห็นตลาดหุ้นไทยที่มีสภาพคล่องสูง มีเสถียรภาพ ไม่ต้องการตลาดหุ้นที่ซบเซา คลังต้องการตลาดหุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายที่มีทั้งปริมาณและคุณภาพ และต้องการเห็นตลาดหุ้นไทยมีความน่าดึงดูดทั้งต่อนักลงทุนที่จะมาลงทุนและต่อบริษัทที่จะเข้ามาจดทะเบียน ดังนั้นตลาดหุ้นไทยที่น่าดึงดูดจะต้องมีความสามารถในการแข่งขัน มีกฎระเบียบที่ผ่านปรนเอื้อต่อการลงทุน และต้องดึงดูดบริษัทต่าง ๆ ในระดับโลกด้วย คลังต้องการเห็นตลาดหลักทรัพย์ไทยแข่งขันได้และมีความเป็นสากล" นายเผ่าภูมิ กล่าว
นายเผ่าภูมิ ได้กล่าวตอบคำถามว่าหากไม่มีการจัดเก็บภาษีในส่วนนี้ จะทำให้รายได้ของรัฐบาลหายไปหรือไม่ และรัฐบาลจะต้องมีการขาดดุลงบประมาณเพื่อมาชดเชยในส่วนนี้ว่า ในแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) ยังไม่ได้มีการพิจารณาและรวมถึงผลกระทบที่มีนัยยะสำคัญของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งหากนโยบายนี้เกิดขึ้นนั่นหมายถึงจะมีเม็ดเงินถึง 5.6 แสนล้านบาทเข้าไปในระบบ และด้วยกลไกที่รัฐบาลออกแบบ นั่นหมายถึงเงินทุกบาทใน 5.6 แสนล้านบาท จะต้องเกิดเป็นรายได้ของรัฐบาลกลับคืนมาในรูปแบบของภาษี ทั้งภาษีนิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพิ่มขึ้นถึง 1 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 3 ต.ค. 66 จะมีการเสนอรายชื่อคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต และหลังจากนั้นจะเร่งเดินหน้าทำงาน ซึ่งจะมีความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับเงื่อนไขในมาตรการ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญที่จะทำให้เม็ดเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจ เพราะยิ่งปล่อยให้หมุนมากเท่าไหร่ก็จะมีตัวคูณทางเศรษฐกิจสูงขึ้นเท่านั้น
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า ตัวเลขงบประมาณปี 2567 ของรัฐบาล ภายใต้แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) ฉบับทบทวน (MTFF 2567-2570) ยังเป็นตัวเลขเดิม โดยรายได้สุทธิ อยู่ที่ 2.787 ล้านล้านบาท งบประมาณรายจ่าย อยู่ที่ 3.48 ล้านล้านบาท และขาดดุลงบประมาณ อยู่ที่ 6.93 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมา
"ในแผนงบประมาณปี 2567 อาจจะมีการรวมรายได้จากภาษีธุรกรรมจากการขายหุ้น 1.4 หมื่นล้านบาทไว้ด้วย แต่ในทางปฏิบัติเมื่อมาดูตามมาตรา 16 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลัง ระบุว่า ให้หน่วยงานรัฐ นำแผนการคลังระยะปานกลางมาใช้ประกอบการพิจารณาการจัดเก็บรายได้ นั่นแปลว่า เมื่อมีงบประมาณมาตั้ง ก็ต้องมาดูในทางปฏิบัติว่ามีนโยบายอื่นที่จะสามารถนำมาใช้จัดเก็บภาษีได้ดีกว่าหรือไม่ โดยจากสถานการณ์ตอนนี้ต้องดูแลเรื่องตลาดทุน ขณะเดียวกันผลของมาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลก็จะมีกลับคืนมา ดังนั้นในส่วนนี้จึงเลือกใช้มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้แทนการจัดเก็บภาษีหุ้น ซึ่งผลการจัดเก็บรายได้ 10 เดือน ของปีงบประมาณ 2566 เกินกว่าเป้าหมาย 1.5 แสนล้านบาท" นายพรชัย กล่าว