ภาษีลงทุนต่างประเทศ! คุ้มค่ากับเศรษฐกิจไทยหรือไม่?

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday September 30, 2023 11:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ อดีตประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด มองว่า กรณีกรมสรรพากรมีคำสั่งที่กำหนดให้ผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้ในต่างประเทศ ไม่ว่าจากการทำงานหรือทรัพย์สินที่อยู่ต่างประเทศ หากมีการนำเงินได้ดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยว่าในปีภาษีใดก็จะต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้ในปีที่นำเข้า โดยจะเริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 นั้น ภาษีที่จะได้ไม่คุ้มค่ากับโอกาสที่เสียไปของประเทศไทยในปัจจุบัน ถึงแม้รัฐบาลจะมีจุดมุ่งหมายในการปิดช่องว่างทางกฎหมายและเพิ่มรายได้ภาษี แต่คำสั่งนี้มีความท้าทายทั้งในมิติความชอบด้วยกฎหมาย และความชัดเจนของแนวปฏิบัติ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัจจุบันมีนักลงทุนรายย่อยที่ลงทุนต่างประเทศ (ไม่รวมอสังหาริมทรัพย์) จำนวน 55,963 ราย คิดเป็นมูลค่าเงินประมาณ 8,886 ล้านเหรียญสหรัฐ ยังไม่นับชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยและมีแผนที่จะนำเงินเข้ามาในประเทศไทย ถ้าบุคคลเหล่านี้ไม่นำ เงินกลับมาด้วยเหตุของการเก็บภาษีเช่นว่านี้ จะทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว จึงเป็นเรื่องน่าคิดว่าภาษีเงินได้ที่ได้รับจะคุ้มค่าผลกระทบในระยะยาวหรือไม่

หากรัฐบาลมีความประสงค์จะเก็บภาษีเงินได้ที่อยู่ต่างประเทศตามหลักภาษีเงินได้ทั่วโลก(Global income) แบบสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยก็จะต้องมีการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้ให้ชัดเจนตามประเภทเงินได้ตามหลักแหล่งเงินได้ ตามหลักถิ่นที่อยู่ให้ชัดเจน ทั้งนี้ อาจจะพิจารณาแก้ไขมาตรา 41 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยสามารถดำนินการได้ด้วยการออกพระราชกำหนดหรือพระราชบัญญัติ ทั้งนี้ควรมีการกำหนดรายละเอียดอัตราภาษีที่ไม่สูงเกินไป วิธีการคำนวณและอัตราต้องกำหนดให้ชัดเจน และต้องไม่เก็บภาษีซ้ำซ้อนและดูเปรียบเทียบกฎหมายของสิงคโปร์และฮ่องกง

ทั้งนี้ ประเทศอินโดนีเซียเคยมีมาตรการที่จะให้นักลงทุนชาวอินโดนีเซียที่มีเงินฝากอยู่ที่สิงคโปร์นำเงินกลับเข้ามาในอินโดนีเซีย โดยมีมาตรการเรื่องการนิรโทษกรรมภาษี และเก็บภาษีในอัตราที่ไม่สูงมาก

"หากจะมีมาตรการใหม่ๆ ควรเป็นมาตรการที่เชิญชวนให้ผู้มีเงินได้ในต่างประเทศ นำเงินได้กลับเข้ามาเพื่อมาเป็นค่าใช้จ่าย ลงทุนในประเทศไทยน่าจะเป็นมาตรการที่ดีกว่าคำสั่งการเก็บภาษีที่ไม่ชัดเจน และหากรัฐบาลจะต้องจัดเก็บภาษี ก็ต้องมีกฎหมายละมาตรการการเสียภาษีอย่างชัดเจนและเป็นธรรม"

นายกิติพงศ์ กล่าว่า การที่กรมสรรพากรออกคำสั่งดังกล่าว ที่เปลี่ยนการตีความที่มีมากว่า 38 ปี เป็นการใช้คำสั่งตีความกฎหมายภาษีอากรแทนที่จะเสนอแก้ไขกฎหมายเป็น พ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ. คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้เพราะการออกคำสั่งดังกล่าวตีความกฎหมายผิดหลักการของการตีความกฎหมายภาษีอากร และเป็นการขยายการตีความกฎหมายของฝ่ายบริหาร (หรือกรมสรรพากร) เอง โดยหลักการตีความกฎหมายภาษีอากรนั้น หากสามารถตีความได้หลายนัย ต้องตีความโดยเคร่งครัด และหากมีข้อสงสัยก็ต้องตีความเป็นคุณกับผู้เสียภาษีอากรแล้ว หากเมื่อรัฐบาลคิดว่ากฎหมายมีช่องว่าง ก็ต้องตราเป็นกฎหมายใหม่ โดยกรณีนี้ผู้มีอำนาจตีความกฎหมายควรเป็นศาลภาษีอากร ไม่ใช่กรมสรรพากรเอง

ทั้งนี้ การตีความกฎหมายภาษีที่ต้องตีความโดยเคร่งครัด และหากตีความได้ 2 นัย ก็ต้องตีความเป็นคุณแก่ผู้เสียภาษี อีกทั้งจากการตีความในอดีตของกรมสรรพากรและจากตำราที่เป็นแนวทางการปฏิบัติของบรรดาผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ผ่านมา ก็ใช้หลักว่าจะเสียภาษีเงินได้ต้องนำเข้ามาในปีภาษีเดียวกัน

ดังนั้นหากรัฐบาลเห็นว่าการตีความมาตรา 41 มีช่องว่างในการตีความกฎหมายที่ทำให้ผู้มีเงินได้ในต่างประเทศวางแผนหลีกเลี่ยงภาษี (Tax Avoidance) รัฐบาลก็ควรที่จะเสนอแก้กฎหมายให้ชัดเจนแทน

ประเทศไทยไม่เคยนำหลัก Global income มาใช้ และถ้าหากจะนำมาใช้ก็ต้องตราเป็นกฎหมายในการจะเรียกเก็บภาษีดังกล่าว แต่ทั้งนี้ควรดูว่าประเทศอื่นในภูมิภาคนี้เก็บภาษีแบบไหน เพราะประเทศสิงคโปร์และฮ่องกงต่างก็จะเก็บจากแหล่งเงินได้ในอาณาเขต (Territorial income) โดยจะไม่เก็บจากหลักแหล่งเงินได้จากต่างประเทศ (Offshore income) แถมเงินได้ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเงินปันผลและกำไรจากการลงทุน (Capital gain) ก็ไม่เก็บภาษีอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลจะเก็บภาษีควรทำอย่างไร มีข้อเสนอดังนี้

1.ในช่วงเวลาก่อนคำสั่งมีผลใช้บังคับ ขอให้ส่งไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ตามมาตรา 13ทวิและมาตรา 13 ฉ ของประมวลรัษฎากร เพื่อวินิจฉัยถึงความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งนี้ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือให้คณะกรรมการกฤษฏีกาคณะพิเศษพิจารณา มิเช่นนั้นคงมีผู้เสียภาษีไม่เห็นด้วยและนำคดีขึ้นสู่ศาลภาษี ซึ่งจะเสียค่าใช้จ่ายและเวลาที่อาจไม่คุ้มค่าแก่ทุกฝ่าย

2. ให้มีการพิจารณาผลกระทบระยะยาวต่อเศรษฐกิจไทย โดยเปรียบเทียบระหว่างมูลค่าภาษีที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินการตามคำสั่งนี้ เทียบกับภาษีเงินได้ที่หายไปจากการที่คนไทยนำเงินไปลงทุนที่ประเทศอื่นแทน รัฐบาลไทยควรทำอย่างไรและพิจารณาความคุ้มค่าของคำสั่งดังกล่าว

3. ในขณะเดียวกัน หากต้องการจะจัดเก็บภาษีจริงๆ รัฐบาลก็ควรแก้ไขกฎหมายวิธีการเก็บภาษีให้ชัดเจนไม่ใช่แก้ทีละจุดเหมือนการปะผุบ้านแต่ควรสร้างบ้านใหม่ โดยควรต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบ และสร้างความชัดเจนของการเสียภาษีในแต่ละประเภทเงินได้ให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม โดยให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยนำงานศึกษาของสภาปฏิรูปแห่งชาติและของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มาพิจารณาไปพร้อมกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ