สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวไตรมาส 3/66 อยู่ที่ระดับ 69 สะท้อนสถานการณ์ท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 1/66 เป็นต้นมา เนื่องจากเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวของทั้งคนไทยและต่างชาติ ประกอบกับประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่แน่นอน และหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤติโควิด-19
ขณะเดียวกัน กังวลเกี่ยวกับค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยช่วงต้นไตรมาสประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล อาจจะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของประเทศในปีหน้า นอกจากนี้ ภาคการส่งออกของไทยหดตัว 10 เดือนติดต่อกัน ส่งผลให้เม็ดเงินในมือของประชาชนน้อยลง
น.ส.ผกากรอง เทพรักษ์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เปิดเผยว่า จากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ จึงส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น สถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาสนี้จึงต่ำกว่าไตรมาสที่ผ่านมา แต่ดีกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และยังถือว่าต่ำกว่าปกติในระดับมาก (ปกติ 100) โดย 76% ของสถานประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ยังมีรายได้น้อยกว่าก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ส่วนธุรกิจร้านอาหารมีรายได้มากที่สุดประมาณ 64% ของรายได้ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 และร้านขายของฝากของที่ระลึกมีรายได้น้อยที่สุดประมาณ 46% กรุงเทพมหานครมีรายได้มากที่สุดประมาณ 59% ขณะที่ภาคตะวันออกและภาคตะวันตกมีรายได้น้อยที่สุด ประมาณ 51%
น.ส.ผกากรอง กล่าวว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีจำนวนแรงงานประมาณ 84% ของช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 น้อยกว่าก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ประมาณ 16% (คิดเป็นจำนวนแรงงาน ประมาณ 600,000 ตำแหน่ง) แต่มีสถานประกอบการเพียง 4% ที่ระบุว่า ต้องการแรงงานเพิ่มในไตรมาสหน้า (ประมาณ 160,000 ตำแหน่ง)
ทั้งนี้ คาดการณ์สถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาส 4/66 ค่าดัชนีฯ อยู่ที่ 75 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการคาดว่าในไตรมาสหน้าสถานการณ์ท่องเที่ยวจะดีขึ้นกว่าไตรมาสนี้ เนื่องจากเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของคนไทยและต่างชาติ รวมทั้งมีวันหยุดยาวถึง 6 ช่วง และการจัดกิจกรรมในเทศกาลต่างๆ ในไตรมาสหน้าจะส่งผลต่อสถานการณ์ท่องเที่ยวให้ดีขึ้น
น.ส.ผกากรอง กล่าวว่า จากการสำรวจนักท่องเที่ยวจีนที่มีค่าใช้จ่ายสูงต่อหัว (ไฮสเปนดิง) พบนักท่องเที่ยว 1 ใน 4 ใช้จ่ายเกิน 70,000 บาท/หัว ขึ้นไป โดยมีพฤติกรรมใช้จ่ายคอนโดมิเนียม และสินค้าแบรนด์เนม ดังนั้น จึงมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐว่า ไทยสามารถเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวได้ ด้วยการลดภาษีคอนโด และสินค้าแบรนด์เนม เพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวมาใช้จ่ายในประเทศไทยมากขึ้น
นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธาน สทท. กล่าวว่า ถือเป็นข่าวดีที่รัฐบาลเศรษฐา 1 ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอันดับแรกๆ และตั้งเป้าแบบท้าทาย สร้างรายได้รวมจากการท่องเที่ยวไว้ที่ 4 ล้านล้านบาท โดยเน้นที่มูลค่ามากกว่าจำนวนนักท่องเที่ยว ทำให้ทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ นอกจาก Restart แล้ว ยังต้อง Reboost ทั้งออกแบบสินค้าและบริการตอบโจทย์และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับนักท่องเที่ยวคุณภาพยุคใหม่
นายชำนาญ กล่าวว่า ภาคเอกชนเห็นการเดินหน้าเชิงรุก ทั้งเรื่องวีซ่าฟรี การพัฒนาสนามบิน การตั้งทีมยุทธศาสตร์ Soft power และการเติมบูสเตอร์ช็อตต่างๆ จึงมีความมั่นใจว่า ภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นเครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อน GDP ของประเทศ และกระจายรายได้ให้คนไทยทั้งประเทศได้อีกครั้ง โดยมองว่า เป้าหมายรายได้ 4 ล้านล้านบาท สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ หากทุกภาคส่วนทั้งเอกชน ภาครัฐทุกกระทรวง ร่วมกันทำงาน กำจัดอุปสรรค และสร้างจุดแข็งร่วมกัน
อย่างไรก็ดี เพื่อให้เกิดการทำงานแบบ Real Time ที่มีประสิทธิภาพ สทท. เสนอให้มีการตั้ง Tourism War room ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), สทท., กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันสร้าง Tourism Big Data และ Social Listening รวบรวมข่าวสาร แก้เฟคนิวส์ ช่วยกันดูแลนักท่องเที่ยวให้ปลอดภัยและมั่นใจ รวมถึงการสร้าง Digital Content ที่มีพลังบวกให้สอดรับกับโอกาสใหม่ๆ ตามเทรนด์ที่เกิดขึ้น และมีการสรุปนโยบายเชิงเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง เพื่อผลักดันนโยบายเชิงรุกในยุค Tourism War Game ที่หลายประเทศใช้ท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือ Quick win ในการฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19
"แนะภาครัฐในประเด็นเรื่องนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่ 1. Free VISA เพิ่มเติม เพื่อเติมนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง และตลาดใหม่ เช่น อินเดีย 2. Tourism War Room แก้ข่าวลบ เติมข่าวบวก และ 3. Legal Enforcement มีปราบทัวร์ศูนย์เหรียญ ไกด์เถื่อน และแก็งสีเทาอย่างจริงจัง และ List บริษัทท่องเที่ยว ที่ปลอดภัย ไม่โกง ได้ประสบการณ์ที่ดี" นายชำนาญ กล่าว
ส่วนข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ เพื่อการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยเน้นการท่องเที่ยววันหยุด และเมืองรอง ได้แก่
1. ออกนโยบายส่งเสริมให้ช้าราชการเที่ยวช่วยชาติวันธรรมดา เช่น ได้รับส่วนลดพิเศษ หรือได้ KPI 2 เท่า ถ้าไปเมืองรอง
2. ส่งเสริมองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด เดินทางศึกษาดูงานข้ามภาค
3. บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ซื้อ Package Workation วันธรรมดา ให้เป็นสวัสดิการพนักงาน นำไปลดหย่อนภาษี
4. ส่งเสริมเที่ยวไทยวัยเก๋า เชื่อมโยงชุมชน สร้างทั้งรายได้ และความภาคภูมิใจให้คนวัยเกษียณ