กระทรวงพาณิชย์ เผย ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ก.ย.66 อยู่ที่ 108.02 เพิ่มขึ้น 0.30% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไป 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) เฉลี่ยอยู่ที่ 1.82%
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือนก.ย.อยู่ที่ 104.38 เพิ่มขึ้น 0.63% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐาน 9 เดือนแรกของปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 1.50%
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การลดลงของอัตราเงินเฟ้อในเดือนก.ย.66 เป็นผลจากการลดลงของราคาสินค้าในหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะการลดลงของสินค้าในกลุ่มพลังงาน ทั้งค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงค่าโดยสารเครื่องบิน
นอกจากนี้ ยังเป็นการลดลงของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งลดลงครั้งแรกในรอบ 23 เดือน ตามการลดลงของเนื้อสัตว์ อาทิ เนื้อสุกร และไก่สด โดยเฉพาะเนื้อสุกรที่ปริมาณผลผลิตมีจำนวนมาก ผักสด เช่น ผักคะน้า ต้นหอม และพริกสด เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเอื้อต่อการเจริญเติบโต ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้น นอกจากนี้ น้ำมันพืช และมะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) ราคายังคงลดลงต่อเนื่องตามราคาต้นทุนวัตถุดิบ
"อัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน เป็นผลจากราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร และกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และราคาน้ำมันที่ปรับลดลง" นายพูนพงษ์ ระบุ
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ไตรมาสที่ 3 ปีนี้ (ก.ค.-ก.ย.66) เฉลี่ยอยู่ที่ 0.52%
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ไตรมาสที่ 4 ปีนี้ มีแนวโน้มชะลอตัวจากไตรมาส 3 จากราคาเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ และเครื่องประกอบอาหารที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสินค้าในกลุ่มพลังงาน (ค่ากระแสไฟฟ้า ราคาน้ำมัน) และสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มลดลงจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และฐานราคาในช่วงเดียวกันของปี 2565 อยู่ระดับสูง จึงมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัว
"กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดมาตรการช่วยลดค่าครองชีพประชาชน ซึ่งจะมีการปรับลดราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค รวมนับล้านรายการ ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี (ต.ค.-ธ.ค.) ซึ่งมาตรการนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อลดลงอีก" นายพูนพงษ์ ระบุ
อย่างไรก็ดี อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ตามภาคการท่องเที่ยว และการส่งออก รวมถึงรายได้เกษตรกร และค่าจ้างเฉลี่ยที่อยู่ในระดับดี รวมทั้งสถานการณ์อุปทานพลังงานที่ยังตึงตัว สินค้าเกษตรในหลายประเทศได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่อง อาจเป็นแรงส่งที่ทำให้เงินเฟ้อชะลอตัวน้อยกว่าที่คาดได้
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า จากปัจจัยดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์จึงปรับตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 จากเดิมอยู่ที่ 1.0 - 2.0% (ค่ากลาง 1.5%) มาเป็น 1.0 - 1.7% (ค่ากลาง 1.35%) ซึ่งหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง
โดยการปรับคาดการณ์เงินเฟ้อ มาจากสมมติฐานที่สำคัญ ดังนี้ 1. อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 66 ขยายตัว 2.5-3% 2.ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยทั้งปี 75-85 ดอลลาร์/บาร์เรล และ 3.อัตราแลกเปลี่ยน เฉลี่ยทั้งปี 34.50-35.50 บาท/ดอลลาร์
นายพูนพงษ์ กล่าวด้วยว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุด ส.ค.66) พบว่า ไทยยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และยังคงต่ำสุดในอาเซียน จาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อหลายประเทศทั่วโลก มีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มยุโรป เช่น สหราชอาณาจักร อิตาลี และเยอรมนี