นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามที่รัฐบาลหวังหรือไม่ เมื่อมองผลกระทบของมาตรการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ต่อเศรษฐกิจไทยปี 67 มูลค่ารวม 560,000 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างผลผลิตรวม หรือปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบ เป็นมูลค่า 1,614,517 ล้านบาท (ซึ่งคิดเป็น Output Multiplier เท่ากับ 2.88 เท่า) คิดเป็นมูลค่า GDP ณ ราคาประจำปีเท่ากับ 604,254 ล้านบาท
โดยมองว่าผลต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เป็นบวกในระยะสั้น แต่ยังมีความไม่ชัดเจน น่าจะทำให้อัตราการขยายทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้อีกอย่างน้อย 1.5-2.0% จากการคาดการณ์ Best Case อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการดังกล่าว อาจไม่ส่งผลบวกในระยะยาว
ขณะที่เมื่อพิจารณาเฉพาะผลกระทบด้านบวกของมาตรการแจกเงิน โดยสมมติให้ปัจจัยอื่นคงที่ทั้งหมด เพื่อศึกษาถึงผลของจำนวนรอบของการหมุนเวียนของเม็ดเงินใช้จ่ายในระบบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ พบว่า มีผลต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นระหว่าง 1.14-3.30% จากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในกรณีไม่มีมาตรการดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ผลด้านบวกอาจถูกหักล้างด้วยข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยี อาจมีเม็ดเงินรั่วไหลออกจากระบบ การก่อหนี้สาธารณะอาจส่งผลให้เกิด Crowding Out Effect และไปเบียดบังการลงทุนภาคเอกชน ประชาชนบางส่วนอาจไม่ใช้สิทธิ เป็นต้น
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า โดยสรุปมีมุมมองนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เสนอแนะแก่รัฐบาล ดังนี้
- เศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว ภาคบริโภคฟื้นตัวชัดเจน มีความจำเป็นในการกระตุ้นการบริโภคน้อยลง
- เม็ดเงิน 560,000 ล้านบาท ที่อัดฉีดเข้าสู่ระบบจะทำให้เงินเฟ้อคาดการณ์สูงขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย อาจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มอีก ขณะนี้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงอย่างชัดเจนและอยู่ในกรอบเป้าหมาย
- ตัวทวีคูณทางการคลัง (Fiscal Multiplier) มีค่าไม่สูงนักสำหรับการใช้จ่ายภาครัฐที่เป็นเงินโอนหรือแจกเงิน เมื่อเทียบกับการใช้จ่ายของรัฐในการทำโครงการลงทุนต่างๆ (กรณีไม่มีการทุจริตรั่วไหล)
- มีต้นทุนค่าเสียโอกาสของการใช้งบประมาณ 560,000 ล้านบาทในโครงการลงทุนด้านต่างๆ
- ควรทำ Fiscal Consolidation ลดการขาดดุลภาครัฐและหนี้สาธารณะ เพื่อให้มีพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) เพื่อรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาต่างๆ ในอนาคต
- ทบทวน ปรับเปลี่ยน แจกเฉพาะครอบครัวรายได้น้อย หรือชนชั้นกลางที่ประสบปัญหาหนี้สิน ดีกว่าหรือไม่
"มีงานวิจัยหลายชิ้นสรุปว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการโอนเงิน หรือแจกเงิน เกิดผลในการหมุนเวียนของเงินที่ใส่เข้าไปน้อยกว่าการนำเงินของรัฐไปลงทุนในโครงการที่มีการจ้างงาน หรือลงทุนโครงสร้างระบบบริหารจัดการน้ำ หรือสร้างสิ่งก่อสร้างที่จำเป็น แต่จะต่ำกว่าเท่าไรก็อยู่ที่วิธีการออกแบบในการแจกเงิน ซึ่งเชื่อว่าโดยพื้นฐาน การแจกเงินของรัฐบาลเศรษฐา มีผลต่อการหมุนรอบของเงินมากกว่าการแจกเงินของรัฐบาลประยุทธ์ เนื่องจากการออกแบบที่ต่างกัน เช่น การกำหนด 4 กิโลเมตร เงินจะกระจายในร้านค้าเล็กๆ มากขึ้น อย่างไรก็ดี นโยบายยังประเมินบางอย่างยาก ถ้าบ้านมีคน 5 คน ได้ 50,000 บาท สามารถรวมเงินไปลงทุนในการทำธุรกิจเล็กๆ ดังนั้น การวิจารณ์ว่านโยบายนี้จะกระตุ้นแค่การบริโภคอาจไม่จริง" นายอนุสรณ์ กล่าว
สำหรับแนวทางการหาเงินของรัฐบาลจำนวน 560,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มองว่าสามารถทำได้หลายทาง คือ
1. ขอกู้เงินจากธนาคารของรัฐ เป็นนโยบายกึ่งการคลัง ซึ่งจะยังไม่โผล่ในงบประมาณ แต่เป็นภาระที่รัฐบาลต้องชดเชยต่อไป สุดท้ายแล้วก็จะกลายเป็นหนี้สาธารณะอยู่ดี พอเป็นหนี้สาธารณะ รัฐบาลก็ต้องขยายเพดานในมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งนายกฯ ระบุว่าจะขยาย 45% ซึ่งถือว่ามาก เนื่องจากตามวินัยการคลังไม่ควรขยายเกิน 35% อย่างไรก็ดี มองว่ารัฐบาลจะเลือกใช้วิธีนี้ เพราะไม่ต้องไปยุ่งกับงบประมาณมาก เพราะงบประมาณปี 67 รัฐบาลก่อนจัดสรรไปหมดแล้ว ทั้งนี้ รัฐบาลควรตระหนักว่าเป็นความเสี่ยงทางการคลังแม้ไม่โผล่ในงบประมาณก็ตาม
2. การปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งจะได้เงินมาส่วนหนึ่ง ปัญหาคือผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจจะลดลง ถ้าเป็นการลดงบประมาณที่มีผลต่อเรื่องจ้างงาน หรือโครงการสร้างถนน แต่จะไม่มีผลกระทบ ถ้าลดการซื้อหรือนำเข้า เช่น เรือดำน้ำ และดีต่อประเทศในระยะยาว
3. มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมาก แต่จะมีผลต่อการคลังเพิ่ม คือการกู้เงินเพิ่ม งบประมาณปี 67 ขาดดุลกว่า 5 แสนล้านบาท ถ้ารัฐบาลจะทำขาดดุลเพิ่ม ก็ต้องกู้เงินเพิ่ม ซึ่งถึงจุดหนึ่งก็จะติดเพดาน
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า วิธีที่ดีกว่าคือการลดเม็ดเงินลง และมุ่งเป้าเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการเงินจริงๆ เพราะตอนนี้เศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวบ้าง ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ล็อกดาวน์เหมือนช่วงโควิด ดังนั้น ควรลดขนาด เช่นให้กลุ่มที่เดือดร้อนจริงๆ หรือชนชั้นกลางที่มีหนี้ครัวเรือนสูง ซึ่งจะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่า เพราะมีอัตราความโน้มเอียงในการบริโภคสูง
ทั้งนี้ มองว่าการที่รัฐบาลจะแจกคนทั่วไป เนื่องจากง่ายต่อการจัดการ และมีเหตุผลในแง่สร้างโครงสร้างพื้นฐานบล็อกเชน และกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมองว่าอาจไม่มีประสิทธิผล ควรแยกส่วนกันเพื่อให้ได้ผลอย่างเต็มที่
"มองว่ามีฐานข้อมูลการจดทะเบียนคนจนอยู่แล้ว ควรใช้ฐานตรงนั้นเป็นหลัก ตอนที่แจกเงินของประยุทธ์ ตอนนั้นล็อกดาวน์ คนไม่มีรายได้ ก็จำเป็นต้องแจกเงิน แต่ขณะนี้หลายคนกลับมามีรายได้ แต่หลายคนที่มีรายได้ก็มีหนี้สินเยอะ ซึ่งถ้ากระตุ้นในกลุ่มนี้ได้ก็ดี ดังนั้น การแจกเงินทั้งหมดไม่จำเป็น แต่ถ้ารัฐบาลจะแจกทั้งหมดก็แล้วแต่ เพื่อรักษาสัญญาประชาคม" นายอนุสรณ์ กล่าว
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลต้องใช้งบประมาณลงทุนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของบล็อกเชนขึ้นมา ต้องคิดมากกว่าแค่การแจกเงินดิจิทัล การแจกเงินอาจเป็นเพียงการเริ่มต้นเพื่อทดสอบระบบการเงิน
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยผลสำรวจต่อนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท จากประชาชน 1,280 ตัวอย่าง พบว่า ประชาชนไม่เห็นด้วยเรื่องการใช้ในรัศมี 4 กิโลเมตร ในสัดส่วนที่สูงสุด ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลว่าประชาชนมีความรู้สึกว่า 4 กิโลเมตร ไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นการคล่องตัว
ดังนั้น หากรัฐบาลมีช่องในการเปิด เพิ่มพื้นที่ เพิ่มรัศมีกิโลเมตรได้ ประชาชนอาจรู้สึกว่าคล่องตัวมากกว่านี้ อย่างไรก็ดี แน่นอนว่าเหมาะกับพื้นที่ที่ไม่มีร้านค้าเยอะ ถ้าบางพื้นที่ที่มีร้านค้าจำนวนมากก็อาจเหมาะสมได้ ซึ่งถ้ารัฐบาลกำลังจะประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต อาจสำรวจพื้นที่ร้านค้า
เมื่อถามกลุ่มตัวอย่างว่าจะนำเงินที่ได้จากนโยบายไปใช้กับสินค้าประเภทใด อันดับหนึ่งตอบว่าจะใช้ไปกับของใช้ในครัวเรือน รองลงมาคือ อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า และโทรศัพท์มือถือ ตามลำดับ ซึ่งมองว่า การใช้ซื้อโทรศัพท์ อาจเป็นการใช้จ่ายไปกับสินค้าต่างประเทศ จะไม่กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเท่าที่ควร ดังนั้น รัฐบาลจึงควรกำหนดให้ใช้จ่ายกับวัตถุดิบ สินค้าที่ผลิตในประเทศหรือไม่
"คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) อยากให้ใช้นโยบายดิจิทัลเฉพาะกลุ่ม และกันเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนเรื่องน้ำ เพราะปีหน้าเจอเอลนีโญ และอีกประเด็น คือ อยากให้รัฐบาลกำหนดใช้ Local content ซึ่งการให้ใช้ในพื้นที่ 4 กิโลเมตรคืออยากให้ใช้จ่ายในท้องถิ่น และจริงๆ ควรใช้ในสินค้าที่ถูกผลิตโดยใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก เพราะจะทำให้เกิดเงินสะพัดหมุนเวียนในประเทศ" นายธนวรรธน์ กล่าว
สำหรับความเห็นต่อนโยบายดิจิทัล ในฝั่งของผู้ประกอบการ เมื่อถามร้านค้าว่าจะเข้าร่วมโครงการดิจิทัลหรือไม่ 33.8% บอกว่าจะเข้าร่วม เพราะได้ประโยชน์ ทำให้ขายได้มากขึ้น แต่ 27.8% บอกว่าจะไม่เข้าร่วม เพราะมองว่าอาจได้เงินช้ากว่าปกติ หรือกังวลเรื่องภาษี และอีก 38.4% บอกว่ายังไม่แน่ใจว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ เนื่องจากยังกังวลเรื่องภาษี และยังไม่รู้หลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมโครงการที่ชัดเจน ทั้งนี้ เมื่อถามว่า นโยบายนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้หรือไม่ ส่วนใหญ่ตอบว่า กระตุ้นได้ในระดับมาก-ปานกลาง มากกว่า 90% สรุปมองว่าดิจิทัล 10,000 บาท สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้
"การมีนโยบายดิจิทัล ที่จะให้ประชาชนได้ประโยชน์คือการมีร้านค้าเข้าร่วม ดังนั้น เงื่อนไขของร้านค้าเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งถ้าร้านค้า SMEs ไม่กล้าเข้าร่วม หรือร้านค้าที่ขายผลิตภัณฑ์ภายในประเทศไม่กล้าเข้า จะทำให้เม็ดเงินถูกกระจายไปสู่ระบบเศรษฐกิจ ไม่เป็นผลตามที่รัฐบาลต้องการจริงๆ ขณะที่ถ้าร้านค้าใหญ่ๆ เข้าไป แล้วเปิดหมวดสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ จะเป็นการใช้เงินที่ไม่เป็นประโยชน์" นายธนวรรธน์ กล่าว