นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือนก.ย. 66 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25-29 ก.ย. 66 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 56.02 เพิ่มขึ้นจากระดับ 56.0 ในเดือนส.ค. 66
โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้
- กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 55.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนส.ค. ซึ่งอยู่ที่ 55.3
- ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 56.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนส.ค. ซึ่งอยู่ที่ 56.4
- ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 58.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนส.ค. ซึ่งอยู่ที่ 58.5
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 55.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนส.ค. ซึ่งอยู่ที่ 55.1
- ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 56.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนส.ค. ซึ่งอยู่ที่ 55.9
- ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 55.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนส.ค. ซึ่งอยู่ที่ 54.8
ปัจจัยบวก ได้แก่
1. นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 ก.ย.66 ทำให้เห็นภาพการทำงานของ ครม.ชุดใหม่ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
2. รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชน โดยเฉพาะการปรับลดค่าไฟฟ้าลงเหลือ 3.99 บาท รวมถึงการลดราคาน้ำมันดีเซลลงต่ำกว่าลิตรละ 30 บาท
3. การส่งออกของไทยเดือนส.ค.66 ขยายตัว 2.6% ที่มูลค่า 24,279 ล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้า ลดลง 12.8% ที่มูลค่า 23,919 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้เกินดุลการค้า 359 ล้านดอลลาร์
4. การยกเลิกวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งคาดว่าจะเดินทางเข้ามาไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวันชาติจีนที่เป็นวันหยุดยาว
5. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและบริการ มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น สามารถขยายการลงทุนและมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว
6. ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง
7. เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย สะท้อนว่ามีการไหลเข้าสุทธิของเงินตราต่างประเทศ
8. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น และมีกำลังซื้อในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น
ปัจจัยลบ ได้แก่
1. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% มาอยู่ที่ 2.50% และลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 66 ลงเหลือ 2.8% จากเดิม 3.6%
2. ความกังวลเกี่ยวกับการดำเนินงานตามนโยบายให้เป็นรูปธรรม
3. ปัญหาน้ำท่วมที่สร้างความเสียหายในบางพื้นที่ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
4. เศรษฐกิจของจีนที่เผชิญกับความท้าทาย ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักยังมีความไม่แน่นอนสูง
5. ความกังวลต่อมาตรการของภาครัฐ ที่กระทบต่อต้นทุนของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะการขึ้นค่าแรงที่ยังไม่มีความชัดเจน
6. ความกังวลต่อสถานการณ์เอลนีโญ และภัยแล้ง ที่กระทบต่อความต้องการใช้น้ำในพื้นที่เกษตร
1. ดูแลเสถียรภาพทางด้านการเงิน ซึ่งได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจ รักษาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในทิศทางที่เหมาะสม และปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการมากขึ้น
2. ดูแลบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และเร่งเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในบางพื้นที่
3. สนับสนุนสินค้าไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันกับนานาชาติ เพื่อสร้างรายได้ให้เติบโตและเป็นที่ต้องการของตลาด
4. สร้างตลาดส่งออกใหม่ของไทย เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกอบการ
5. สร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อดึงเม็ดเงนเข้ามาในประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบธุรกิจในแต่ละภูมิภาคต่างมองว่าเศรษฐกิจดีขึ้นเกือบทุกรายการ และมองภาพในอนาคตดีขึ้นเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงบางรายการที่มองว่าแย่ลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่อิงกับการส่งออกไปต่างประเทศ เนื่องจากไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้จริง
ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจ ยังมีความกังวลกับนโยบายของภาครัฐที่ยังไม่มีความชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท และโดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่ภาคธุรกิจมีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ในขณะที่ต้นทุนทางการเงินก็เพิ่งจะเพิ่มขึ้นจากการที่ ธปท.ปรับขึ้นดอกเบี้ย นอกจากนี้ ยังมีความกังวลกับปัญหาภัยธรรมชาติ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้งด้วย
"ภาคเอกชนกังวลเรื่องการขึ้นค่าแรง เพราะจะมีผลต่อต้นทุนสินค้า รวมถึงต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้น โดยยังมองเห็นการฟื้นเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยเคลียร์ ในขณะที่ดอกเบี้ยปรับขึ้นไปรอแล้ว แต่แม้ต้นทุนค่าไฟ ค่าน้ำมันจะลดลง การส่งต่อไปยังราคาสินค้าก็ยังทำได้เพียง 20% เท่านั้น ซึ่งผู้ผลิตยังต้องแบกภาระไว้ถึง 80% ดังนั้นภาคเอกชน จึงอยากให้การปรับขึ้นค่าแรงเป็นไปตามความเหมาะสม และตามมติของกรรมการไตรภาคี" นายธนวรรธน์ ระบุ