นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัวได้ดีเกินกว่าระดับ 4% อย่างแน่นอน โดย ธปท.ได้รวมปัจจัยจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเข้าไว้ด้วยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบใด ซึ่งทิศทางเศรษฐกิจไทยปีหน้า มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากปีนี้
"ไม่ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรูปแบบใดออกมาก็ตาม มั่นใจว่าจะช่วยทำให้ GDP ในปี 67 ขยายตัวเกิน 4% อย่างแน่นอน แต่ผลของมาตรการกระตุ้นมีหลายมิติ ดังนั้น ธปท.จึงไม่อยากเจาะจง แต่ได้พิจารณาจากภาพรวมที่อาจเป็นไปได้" นายปิติ กล่าว
พร้อมระบุว่า สำหรับมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทนั้น ธปท.ได้คำนึงถึงความไม่แน่นอนของมาตรการไว้ โดยมองว่ามาตรการนี้จะเข้ามาเป็นปัจจัยที่สร้างความเสี่ยงด้านสูงมากขึ้น แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลักในการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในรอบที่ผ่านมา
"สิ่งที่ กนง. พยายามจะทำ คือ การพิจารณาในหลากหลายมิติ และกำหนดนโยบายที่คิดว่าพัฒนาการด้านเศรษฐกิจอาจจะไม่เป็นไปตามคาด เพื่อดูว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังเพียงพอรองรับความเสี่ยงต่าง ๆ ได้มากน้อยแค่ไหน ให้ต้นทุนของการผิดพลาดน้อยที่สุด เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการปรับนโยบายที่เพียงพอ" นายปิติ กล่าว
ส่วนโจทย์หลักของนโยบายการเงินในปัจจุบันนั้น นายปิติ กล่าวว่า คือการสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างยั่งยืน ในการประชุม กนง. ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา จึงมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นการดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ถือว่าเป็นการถอนคันเร่ง เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับเข้าสู่ระดับใกล้เคียงจุดสมดุล แต่ไม่ได้สูงกว่าจุดสมดุล ซึ่งการถอนคันเร่งนี้ ไม่ใช่การฉุดให้เศรษฐกิจลดความร้อนแรงลง แต่เป็นการสนับสนุนเพื่อให้มีการขยายตัวแบบยั่งยืน
ขณะที่การส่งผ่านนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา ใกล้เคียงกับในอดีต โดยราว 60% ของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ถูกส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) ปรับขึ้นไปราว 1.4% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ปรับขึ้นราว 1%
"สะท้อนว่า ภาพรวมอัตราดอกเบี้ยที่ขึ้นไปของไทยนั้น ถือว่าไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ และตั้งแต่เริ่มกระบวนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ธปท. ก็ได้มีมาตรการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาพรวมอัตราหนี้เสียในประเทศไทย จึงไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก" นายปิติ ระบุ
นายปิติ ยังกล่าวถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความกังวลที่ไม่แน่นอนว่าสถานการณ์จะลุกลามหรือยืดเยื้อไปขนาดไหน ไม่สามารถคาดเดาได้ แต่สิ่งที่เป็นห่วง คือ หากราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นในระยะหนึ่ง ประกอบกับเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น จะทำให้เงินบาท และสกุลเงินประเทศอื่น ๆ อ่อนค่าลง ต้นทุนการนำเข้าสินค้ากลุ่มพลังงานจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น
"ในช่วงที่ราคาพลังงานในประเทศไทย ยังถูกกำหนดด้วยมาตรการบางอย่าง ต้นทุนในส่วนนี้ จะโป่งขึ้นและเป็นภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และภาคการคลัง ดังนั้น จึงต้องจับตาดูการปรับมาตรการในประเทศไทย เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโลก โดยอาจต้องทบทวนราคาน้ำมันในประเทศ" นายปิติ ระบุ
ด้านนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท. ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ลงเหลือ 2.8% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจในไตรมาส 2/66 ที่ขยายตัวได้เพียง 1.8% ถือว่าต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ค่อนข้างมาก แม้ว่าอุปสงค์ในประเทศจะขยายตัวได้ดีถึง 7.8% ขณะที่การส่งออก ก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกับที่ ธปท.คาดการณ์ไว้
แต่ตัวเลขที่ต่ำกว่าคาดการณ์ และทำให้ GDP ในไตรมาส 2 ต่ำกว่าคาดมาก คือหมวดบริการ จากฝั่งการผลิตเป็นสำคัญ โดยเฉพาะหมวดโรงแรมที่ปรับลดลงค่อนข้างมาก ทำให้ตัวเลขการผลิตหมวดบริการปรับลดลงเป็นสำคัญ แต่เชื่อว่าจากจำนวนนักท่องเที่ยว อัตราการพักแรม การจ้างงานที่ยังมีแนวโน้มเป็นบวก เมื่อมองไปข้างหน้า คิดว่ากิจกรรมการบริการน่าจะยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง
ขณะที่ปี 2567 คาดว่า GDP จะขยายตัวได้ 4.4% เป็นประมาณการที่รวมผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐไว้เรียบร้อยแล้ว โดยเครื่องยนต์เศรษฐกิจจะกลับมาได้พร้อมกันหลายตัว เช่น มาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ซึ่งเป็นในรูปเงินโอน จะมีผลกับเรื่องการบริโภคภาคเอกชน ทำให้คาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 4.6% การลงทุนภาคเอกชน ที่คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้น ขณะที่การส่งออกจะกลับมาเป็นบวกได้ โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 4.2% จากปีนี้ที่ ติดลบ 1.7%
ทั้งนี้ การฟื้นตัวของภาคส่งออกจะยังเป็นไปได้อย่างช้า ๆ ในช่วงต้นปี 2567 จากคาดการณ์เดิมในไตรมาส 4/66 โดยกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ และเครื่องจักรน่าจะฟื้นตัวได้ดี ขณะที่สินค้าเกษตร และสินค้าเกษตรแปรรูป อาจชะลอลงจากสถานการณ์เอลนีโญที่มีผลกับผลผลิตภาคเกษตร รวมถึงการฟื้นตัวช้าในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
"โดยรวมแล้ว ความเสี่ยงจะเป็นความเสี่ยงขาสูงในปีหน้า แม้จะรวมมาตรการเข้าไปแล้ว ผลของมาตรการอาจจะมากกว่าคาด ขณะที่ความเสี่ยงด้านต่ำ จะมาจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ช้ากว่าคาด" นายสักกะภพ กล่าว
ส่วนภาวะค่าเงินบาทนั้น มองว่ายังมีความไม่แน่นอนสูง และยังผันผวน โดยมีสาเหตุหลักมาจากปัจจัยภายนอก ซึ่งไม่ใช่ไทยประเทศเดียวที่ต้องเผชิญ นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากราคาน้ำมันและราคาทองคำในตลาดโลกด้วย โดยในภาพรวมเรายังใกล้เคียงภูมิภาค
นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ในปี 2567 เงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยบางไตรมาสอาจจะเกิน 3% และคาดว่าเงินเฟ้อในปี 2568 จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย ซึ่งโดยรวมถือว่ามีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงด้านสูง เพราะมีปัจจัยด้านอุปทาน คือ ผลของเอลนีโญที่มีต่อต้นทุนราคาอาหาร รวมทั้งติดตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ คือ เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดี ส่วนประมาณการเงินเฟ้อในระยะปานกลาง มีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยมีความเสี่ยงด้านสูง ซึ่งต้องติดตามใกล้ชิดต่อไป และยังไว้วางใจไม่ได้
ขณะที่ นายภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินเป็นไปตามที่ได้วางแผนไว้ โดยการนำอัตราดอกเบี้ยกลับเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวที่มีศักยภาพในระยะยาว การตัดสินใจของ กนง. ล่าสุดคือมองว่าเศรษฐกิจไทยถึงจุดที่อัตราดอกเบี้ยเหมาะสมกับการขยายตัวในระดับศักยภาพในระยะยาว ซึ่งนโยบายการเงินต้องใช้เวลาในการดำเนินการ จึงต้องมองภาพรวมข้างหน้า มองลักษณะการเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจ ไม่มองเป็นจุด แม้ว่าไตรมาส 2 จะชะลอลง แต่ภาพรวมยังเชื่อว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง กนง. จึงพิจารณาสถานการณ์ภายใต้ GDP ปีนี้ที่ระดับ 2.8%
"เศรษฐกิจในปัจจุบัน มีความจำเป็นน้อยลงในการใช้นโยบายการเงินช่วยขับเคลื่อน การที่ดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ มันช่วยอะไรมากไม่ได้ ซึ่งอัตราดอกเบี้ย 2.5% นั้น ไม่ใช่ตัวรั้งเศรษฐกิจ แต่เป็นระดับของการถอนคันเร่ง เศรษฐกิจมีศักยภาพที่เติบโตได้ ไม่ต้องอาศัยการสนับสนุนพิเศษจากนโยบายการเงิน และการใช้ดอกเบี้ยนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็ไม่ใช่เรื่องฟรี การใช้ดอกเบี้ยต่ำเวลานานก็มีต้นทุน การใช้กลไกนี้ต่อเนื่อง อาจไม่เป็นผลดีกับเสถียรภาพระบบการเงิน ระดับหนี้ภาคเอกชนปัจจุบันค่อนข้างสูงแล้ว การกระตุ้นให้กู้ยืมเพิ่มขึ้นอีก จะสร้างปัญหาในระยะยาว และอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นเวลานาน อาจนำไปสู่ความเปราะบางในหลายมิติ" นายภูมิชัย กล่าว
อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ แรงส่งจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ผลกระทบเงินเฟ้อจากนโยบายรัฐอื่น ๆ ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ และความผันผวนในตลาดการเงิน