นายสาร์รัฐ ประกอบชาติ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวในการสัมมนาเรื่อง "ทิศทางแผนพลังงานชาติฉบับใหม่..สู่แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนประเทศไทย" ว่า ขณะนี้ อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแผนพลังงานชาติ ซึ่งกำหนดเป้าหมายที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับทั่วโลก โดยให้ความสำคัญในเรื่องของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่มุ่งในเรื่องของความมั่นคงด้านพลังงาน
ทั้งนี้ หลังจากรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนฯ ดังกล่าวแล้ว สนพ. จะเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จากนั้น จะเสนอขอความเห็นชอบจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามลำดับ ก่อนที่จะประกาศใช้แผนฯ คาดว่าจะสามารถดำเนินการเสร็จเรียบร้อยภายในปีนี้
"ขณะนี้ อยู่ระหว่างการรวบรวมแผนฯ จากแต่ละหน่วยงาน เพื่อนำมาสรุปก่อนเปิดรับฟังความเห็น" นายสาร์รัฐ กล่าว
ดังนั้น การจัดทำแผนฯ ตามหลักการที่ผ่านความเห็นชอบจาก กพช. เมื่อวันที่ 4 ส.ค.64 จะสนับสนุนให้ประเทศ มุ่งสู่พลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์
"การเปลี่ยนผ่านพลังงาน ต้องดำเนินการไปพร้อมกัน ทั้งรูปแบบ การเพิ่มสัดส่วน การเพิ่มประสิทธิภาพ ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนแล้วประสิทธิภาพลดลงหรือต้นทุนสูงขึ้น" นายสาร์รัฐ กล่าว
ด้านนายณัฐพล รุ่นประแสง หัวหน้ากลุ่มกำหนดและควบคุมมาตรฐานอาคารใหม่ กองกำกับและอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า การปรับแผนฯ ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย Carbon Neutrality 2050 ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ เพราะต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงเป็นจำนวนมากราว 50% ดังนั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากภาคอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนในการสร้างคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 63%
ขณะที่นายเมธาวัจน์ พงศ์ณดาภิรมย์ ผู้ข่วยผู้ว่าการ ด้านยุทธศาสตร์องค์การ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า การวางแผนการผลิตไฟฟ้าให้สอดคล้องกับแผนปรับลดคาร์บอนไดออกไซด์นั้น ค่อนข้างลำบาก เพราะพลังงานทดแทนบางอย่าง เช่น แสงแดด ลม อาจไม่สามารถควบคุมปริมาณได้ตามที่ต้องการ ซึ่งในหลายประเทศเกิดปัญหาไฟดับและไฟตก นอกจากนี้ ยังเกิดปัญหาความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ไม่สอดคล้องกับกำลังการผลิตที่มีอยู่ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยโรงไฟฟ้ารูปแบบไฮบริด มีความเหมาะสมมากสุด
ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท (PTT) กล่าวว่า ราคาก๊าซธรรมชาติมีความผันผวนสูง โดยในช่วงที่เกิดการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ราคาดีดขึ้นไปมาก และเชื่อว่าแนวโน้มราคาจะไม่ถูกลง เนื่องจากเป็นพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป
สำหรับแนวทางการปรับลดคาร์บอนไดออกไซด์ของ ปตท.นั้น จะดำเนินการทั้งเรื่องปลูกป่าเพิ่มเป็น 2 ล้านไร่ ซึ่งจะเกิดประโยชน์มากกว่าการลดคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ยังมีมาตรการเร่งปรับ และมาตรการเร่งเปลี่ยนด้วย
ขณะที่การดำเนินธุรกิจของ ปตท.ในอนาคตจะต้องเปลี่ยนไป หลังการเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า ขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ชาร์จไฟที่บ้านพัก มีเพียง 5% เท่านั้นที่ใช้บริการชาร์จไฟตามสถานีบริการ
นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในหัวข้อ "ผลกระทบจาก Climate Change ที่ภาคอุตสาหกรรมต้องรู้" ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาได้ต้นปีหน้า ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ จะช่วยให้การบังคับใช้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เกิดความเสมอภาค ทั้งผู้ส่งออกของไทย และการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งลดความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บภาษี
"เรื่องนี้คงใช้แนวทางสมัครใจไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องวิกฤตที่ทั่วโลกตื่นตัวกันมาก" นายพิรุณ กล่าว
ทั้งนี้ ส่วนราชการพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือภาคเอกชนในการเตรียมตัวรับมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี โดยที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการ เช่น กลุ่มผู้ผลิตปูนซิเมนต์ที่รวมตัวกันผลิตปูนที่ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต
นางรัชฎา วานิชกร ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีคาร์บอน เป็นกลไกที่ถูกนำมาใช้เพื่อดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อม เหมือนกรณีการจัดเก็บภาษีรถยนต์ที่คิดจากปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แทนขนาดกระบอกสูบ ซึ่งภาษีในเรื่องนี้ จะกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากไทยติดอันดับ TOP 10 ประเทศเสี่ยงได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศแบบสุดขีด
นายพัทธ์กมล ทัตติพงศ์ ผู้อำนวยการส่วนยุโรป 2 สำนักยุโรป กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การที่หลายประเทศจะหยิบยกปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม มาใช้เป็นมาตรการทางการค้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยนับตั้งแต่มีองค์กรการค้าโลก (WTO) เมื่อปี 2540 มีการเสนอมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม 165 เรื่อง และในปี 2564 มีถึง 937 เรื่อง เพิ่มขึ้นกว่า 400% โดยประเทศที่ใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมากสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐฯ ออสเตรเลีย จีน แคนาดา ญี่ปุ่น บราซิล เกาหลีใต้ จีนไทเป และนิวซีแลนด์
ถึงแม้ขณะนี้ จะมีการนำร่องใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเรื่องก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กับสินค้าแค่ 6 ชนิด แต่เป็นเรื่องที่ไม่น่าไว้วางใจ เพราะอาจมีการขยายชนิดสินค้าเพิ่มเติมได้อีก แนวโน้มการใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมจะมีความเข้มข้นมากขึ้น และเป็นเรื่องที่ภาคเอกชนสามารถดำเนินการเตรียมพร้อมไปได้ล่วงหน้า โดยไม่ต้องรอให้ทางการประกาศเตือน