นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลังและประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมด้วยนายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ร่วมพิธีรับเกษตรกรเข้าสู่มาตรการพักชำระหนี้ สำหรับลูกค้ารายย่อยที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้ทุกสัญญารวมกันไม่เกิน 300,000 บาท ณ 30 กันยายน 66 โดยมีลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการกว่า 2 ล้านราย ยอดหนี้ทั้งหมดจำนวน 283,000 ล้านบาท
ซึ่ง ธ.ก.ส. เปิดให้บริการตรวจสอบสิทธิ์และแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่านแอปพลิเคชัน "BAAC Mobile" ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 66 - 31 มกราคม 67 โดยติดตามขั้นตอนการปฏิบัติงาน ทั้งการตรวจสอบสิทธิ์ การตรวจสุขภาพหนี้ การทำเอกสารข้อตกลงต่อท้ายสัญญา และการฟื้นฟูศักยภาพในการประกอบอาชีพ ภายใต้หลักการ "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้" พร้อมเติมสินเชื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพ วงเงินไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นในระหว่างการพักชำระหนี้ และป้องกันการก่อหนี้นอกระบบ
นายฉัตรชัย กล่าวว่า ธ.ก.ส. พร้อมดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีในการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรและบุคคลที่มีสถานะเป็นหนี้ปกติและหนี้ค้างชำระ ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้ทุกสัญญารวมกัน ณ 30 กันยายน 66 ไม่เกิน 300,000 บาท โดย ธ.ก.ส. ได้เปิดระบบการแจ้งความประสงค์และตรวจสอบสิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชัน BAAC Mobile ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 66 - 31 มกราคม 67 ปัจจุบันมีผู้แจ้งความประสงค์แล้วกว่า 246,078 คน (ณ 12 ต.ค.) ซึ่งในวันนี้ได้ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรและลูกค้ารายย่อยที่เข้าร่วมมาตรการเพื่อตรวจสอบขั้นตอนและกระบวนการทำงานว่ามีจุดใดที่มีปัญหา เพื่อปรับปรุงให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว ทั้งการตรวจสอบสิทธิ์ การแจ้งความประสงค์ผ่านทางแอปพลิเคชัน BAAC Mobile ซึ่งระบบจะมีการประมวลข้อมูลตรวจสอบคุณสมบัติ การนัดหมาย เพื่อจัดทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาและการเข้ารับการประเมินศักยภาพในการชำระหนี้ก่อนเข้าร่วมมาตรการ
การดำเนินมาตรการในครั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งในการประกอบอาชีพ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอและสามารถชำระหนี้ได้ ธ.ก.ส. จึงดำเนินการเสริมความรู้ฟื้นฟูทักษะในการประกอบอาชีพให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย ซึ่งมีเกษตรกรลูกค้าเข้าร่วมโครงการดังกล่าวแล้วกว่า 500 ราย
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสมในการฟื้นฟูการประกอบอาชีพ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อใช้ในการจัดหาปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยีการผลิต ช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพในการผลิตอันนำไปสู่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืน