นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบขนส่งทางรางและระบบขนส่งมวลชน ที่มีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาและก่อสร้างระบบรถไฟรางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร ระยะทางรวม 2,344 กิโลเมตร วงเงิน 367,312 ล้านบาท เพื่อเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์และทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในภูมิภาคอินโดจีน
โดยมีทั้งหมด 5 เส้นทาง ได้แก่ เชียงของ-เด่นชัย ระยะทาง 326 กิโลเมตร เด่นชัย-ชุมทางบ้านภาชี ระยะทาง 470 กิโลเมตร, หนองคาย-นครราชสีมา-ชุมทางแก่งคอย-ชุมทางบ้านภาชี-ชุมทางหนองปลาดุก-กาญจนบุรี ระยะทาง 990 กิโลเมตร, ชุมทางแก่งคอย-ชุมทางฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง ระยะทาง 247 กิโลเมตร และชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 331 กิโลเมตร
นายสันติ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นว่าการลงทุนโครงการดังกล่าวควรเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาก่อสร้างทั้งโครงสร้างพื้นฐานและระบบเดินรถ โดยจ่ายค่าสัมปทานให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับงบประมาณ และนำงบประมาณไปพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ ซึ่วงขณะนี้มีเอกชนที่สนใจเข้ามาลงทุนหลายราย เช่น จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ และหลายประเทศในยุโรป และมั่นใจว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการได้ในรัฐบาลชุดนี้อย่างแน่นอน
นายสันติกล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบยุทธศาตร์การพัฒนาและก่อสร้างรถไฟด่วนความเร็วประมาณ 160 กม.ต่อชั่วโมง ไปหัวเมืองหลักของประเทศ เพื่อให้บริการประชาชนและส่งเสริมการท่องเที่ยวและลดระยะเวลาการเดินทางระหว่างกทม.ไปหัวเมืองให้เหลือไม่เกิน 2 ชั่วโมง
โดยเห็นชอบในหลักการให้ดำเนินการใน 4 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-นครสวรรค์ ระยะทาง 231 กม., กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 266 กม., กรุงเทพฯ-จันทบุรี ระยะทาง 300 กม. และกรุงเทพ-หัวหิน ระยะทาง 200 กม. ซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) รฟท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับวงเงินที่จะใช้ในการก่อสร้าง และรูปแบบการลงทุนที่ชัดเจนอีกครั้ง แต่คาดว่าการลงทุนดังกล่าวจะใช้เงินไม่มากนัก เพราะจะใช้รางรถไฟเดิมที่มีอยู่ เพียงแต่จะมีการลดจุดตัดระหว่างเส้นทางวรถไฟกับถนนทั้งการยกระดับ และอุโมงค์ลอด และก่อสร้างรางคู่เพิ่มเติมในเส้นทางที่มีการเจราจรแออัด
นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การบำรุงรักษาและเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายรถไฟเดิมระยะทาง 4,346 กม. งบประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท โดยการปรับปรุงบูรณะเส้นทางเดิมที่มีอายุมาก ซื้อหัวรถจักรเพิ่มเติมเพื่อทดแทนหัวรถจักรเก่า ก่อสร้างทางคู่ในเส้นทาง แก่งคอย-คลอง 19-ฉะเชิงเทรา ติดตั้งระบบเดินรถและอาณัติสัญญาณใหม่ และแก้ปัญหาความเร็วด้วยการก่อสร้างทางคู่เป็นช่วงๆ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาจุดตัดระหว่างถนนและทางรถไฟทั่วประเทศที่มีกว่า 2,000 แห่ง
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์ โทร.0-2253-5050 อีเมล์: kasamarporn@infoquest.co.th--