นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามสถานการณ์การส่งออกของไทยในปี 2566 พบว่า สินค้ากลุ่มอาหารเป็นสินค้าที่น่าจับตามอง เนื่องจากการส่งออกเติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยในช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค. 2566) ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารไปตลาดโลก มีมูลค่า 24,161 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
โดยเป็นการส่งออกไปกลุ่มประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ด้วย มูลค่า 16,805 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วน 70% ของการส่งออกสินค้าอาหารทั้งหมด สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง มูลค่า 5,314 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 23% น้ำตาลทราย มูลค่า 2,563 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 14% สินค้าปศุสัตว์ มูลค่า 2,195 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 6% ข้าว มูลค่า 1,011 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 69% และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป มูลค่า 909 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 1%
นางอรมน กล่าวว่า FTA ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดอุปสรรคทางการค้าและกำแพงภาษีให้กับสินค้าส่งออกของไทย โดยปัจจุบันคู่ค้า FTA ได้ลดและยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้ากลุ่มอาหารส่วนใหญ่ให้ไทยแล้ว สอดคล้องกับสถิติการขอใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ในการส่งออกสินค้าอาหารสูงเป็นอันดับต้น เช่น ผลไม้เมืองร้อน อาทิ ทุเรียน มะม่วง และมังคุด ส่งออกไปจีน อาเซียน และเกาหลีใต้ น้ำตาลทราย ส่งออกไปอาเซียน จีน และเกาหลีใต้ ไก่สดและแปรรูป ส่งออกไปญี่ปุ่นและจีน และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ส่งออกไปญี่ปุ่น ออสเตรเลีย จีน และชิลี เป็นต้น
สำหรับสินค้าที่ไทยครองตำแหน่งผู้ส่งออกเบอร์ต้นของโลก อาทิ
- ข้าว ส่งออกอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับ 2 ของโลก รองจากอินเดีย
- อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ส่งออกอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน
- ไก่แปรรูป ส่งออกอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับ 2 ของโลก รองจากสหภาพยุโรป
- น้ำตาลทราย ส่งออกอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับ 3 ของโลก รองจากบราซิล และอินเดีย
- ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ส่งออกอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับ 5 ของโลก รองจากสหภาพยุโรป เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา และชิลี
- ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ส่งออกอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับ 4 ของโลก รองจากจีน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา
"กรมฯ ได้เร่งเดินหน้าเจรจา FTA กับประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหภาพยุโรป (EU) สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) แคนาดา ศรีลังกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) รวมทั้งมีแผนเปิดเจรจากับคู่ค้าใหม่ๆ อาทิ กลุ่มคณะมนตรีความร่วมมือรัฐประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง (MERCOSUR) และกลุ่มประเทศแอฟริกา เพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยขยายการส่งออกสินค้าไปตลาดต่างประเทศ โดยใช้ประโยชน์จาก FTA อย่างเต็มที่" นางอรมน กล่าว