นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวภายหลังหารือกับสภาผู้บริโภคและเครือข่ายขับเคลื่อนค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมว่า ในการหารือไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องการยกเลิกค่าการกลั่น เพราะต้องไปศึกษาว่า สิ่งไหนทำได้ สิ่งไหนทำไม่ได้ ตนพูดเสมอว่า เรื่องพลังงานไม่ใช่เรื่องธุรกิจ แต่เป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ เป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และการดำรงชีวิตของบุคคล แต่ก็ไม่สามารถห้ามนักลงทุนหรือผู้ประกอบการมาค้าขายได้ ตนมีหน้าที่ทำเรื่องนี้ให้เหมาะสม ไม่ใช่ให้ผู้ประกอบการได้กำไรมหาศาลแล้วชาวบ้านอยู่ไม่ได้
นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพูดคุยกับโรงกลั่นแล้ว และขอข้อมูลมาโดยตลอด ส่วนจะดำเนินการอย่างไรขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท เพราะตอนนี้กฏหมายยังเข้าไม่ถึง เรื่องนี้เป็นเหตุผลหนึ่งต้องแก้ไขกฏหมายให้เราสามารถเป็นผู้กำหนดกติกาได้ แม้เป็นการค้าเสรีก็ต้องอยู่ภายใต้กติกา ไม่ใช่เสรีแบบไม่มีขอบเขต ไม่มีประเทศไหนในโลกทำแบบนี้ ดังนั้นต้องแก้กฏหมายเพื่อให้เกิดการกำกับ ควบคุม ดูแลให้เกิดความเหมาะสม
สำหรับการแก้ไขกฏหมายจะไม่ล่าช้า แต่ต้องได้คำตอบชัดเจนว่าต้องแก้จุดไหน เพราะคนร่างกฏหมายคือตน และจะร่างเองทุกฉบับ แต่อาจไม่เสร็จสิ้นทันช่วงปีใหม่นี้ เพราะกฏหมายมีหลายฉบับ จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งเพื่อรวบรวมแก้ไขปัญหาทั้งหมด
"วันนี้ถึงเวลาต้องศึกษา ปรับปรุง แก้ไข ซึ่งตนได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุดเพื่อแก้ไขกฏหมาย ระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฏหมายพลังงานทั้งหมด"
ส่วนการปรับลดราคาน้ำมันเบนซินนั้น นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ไม่ได้ลดทุกตัว แต่จะลดในส่วนของเบนซิน 91 โดยพยายามที่จะลดราคาให้ได้ 2.50 บาท/ลิตร และจะให้เสร็จก่อนปีใหม่ เพื่อเป็นของขวัญให้กับประชาชน แต่ต้องคำนึงปัจจัยหลายอย่าง เช่น ค่าการตลาด เป็นต้น
นายพีระพันธุ์ ยังกล่าวถึงการรับมือราคาพลังงานที่ได้ผลกระทบจากการสู้รบในตะวันออกกลางว่า ได้เตรียมแผนไว้แล้ว ดังนั้นประชาชนไม่ต้องกังวล ทางกระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่ขณะนี้สถานการณ์ราคาน้ำมันในประเทศยังไม่น่าเป็นห่วง แต่สถานการณ์โลกไม่สามารถควบคุมได้ หากยังคงรุนแรง ยืดเยื้อ ยาวนาน ก็ต้องหารือกันอีกครั้ง และไม่ว่าเกิดสถานการณ์ใด ขอให้ประชาชนช่วยกันประหยัดพลังงาน
ส่วนการแก้ไขพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชานั้นยังไม่มีแนวทางที่จะเจรจา หากนำประเด็นเรื่องเขตแดนมาพูดคุยก็ไม่มีทางเจรจาได้ ดังนั้นหากต้องการเจรจาสำเร็จได้จริงต้องแยกเรื่องเขตแดนและเรื่องพลังงานออกจากกัน ซึ่งตนได้มอบแนวทางนี้ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการแล้ว หากดำเนินการได้จะเกิดประโยชน์และจะมีพลังงานเยอะมาก แต่ปฏิเสธที่จะตอบว่าการเจรจาจะสำเร็จหรือไม่ แต่ได้ให้แนวทางไปแล้ว
ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ได้มีข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันสำเร็จรูปและราคาก๊าซหุงต้ม ดังนี้
1.ขอให้ยกเลิกการคิดราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันของประเทศไทยด้วยการอิงราคาตลาดน้ำมันสำเร็จรูปของตลาดสิงคโปร์ บวกค่าพรีเมียม อาทิ ค่าปรับคุณภาพน้ำมัน ค่าขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงจากสิงคโปร์มายังไทย ค่าใช้จ่ายคลังและลำเลียง ค่าประกันภัย ค่าสูญเสียน้ำมันระหว่างการขนส่ง คาใช้จ่ายสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคงและอื่นๆ โดยให้อ้างอิงเฉพาะราคาน้ำมันสำเร็จรูปของตลาดสิงคโปร์เท่านั้น ทั้งนี้ให้คิดค่าเฉลี่ยย้อนหลังใน 1 สัปดาห์ที่เปิดทำการเพื่อกำหนดให้แจ้งประกาศปรับราคาเพียง 1 ครั้งในรอบสัปดาห์ และในกรณีค่าการกลั่นสูงผิดปกติ ให้รัฐดำเนินการจัดเก็บภาษีลาภลอย (Windfall Tax) เหมือนที่หลายประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปได้ดำเนินการแล้ว ซึ่งรัฐต้องควบคุมเพดานสูงสุดค่าการกลั่นให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
2.ขอให้กระทรวงพลังงานเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เสนอให้กระทรวงการคลังออกประกาศลดฐานภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจาก 3.67 บาท/ลิตร เหลือไม่เกิน 1 บาท/ลิตร และลดฐานภาษีสรรพสามิตน้ำมันแก๊ซโซฮอล 95 จาก 5.85 บาท/ลิตร ให้เหลือไม่เกิน 2.50 บาท/ลิตร เพื่อให้ส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันแก๊ซโซฮอล์ 95 และน้ำมันดีเซลต่างกันไม่เกิน 5 บาท/ลิตร
3.ขอให้กระทรวงพลังงงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณากำกับให้มีการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อชดเชยในกรณีที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับขึ้นทั้งเบนชินและดีเซลตามที่ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 บัญญัติไว้ "ไม่ควรนำเงินสะสมในกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของผู้ใช้เบนชินไปชดเชยให้เฉพาะผู้ใช้น้ำมันดีเซลฝ่ายเดียว หรือมีการซดเชยข้ามผลิตภัณฑ์ โดยให้แยกบัญชีกองทุนน้ำมันออกเป็นสองบัญชี คือ บัญชีน้ำมันกลุ่มเบนชิน และบัญชีกลุ่มดีเซล เพื่อให้การบริหารกองทุนน้ำมันเกิดความเป็นธรรมต่อผู้ใช้น้ำมันในแต่ละกลุ่ม"
4.ขอให้ควบคุมค่าการตลาดน้ำมันเบนชินและดีเซล ซึ่งปัจจุบันสูงถึง 3-5 บาท/ลิตร ให้เหลือตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 21 ก.พ.63 คือมีค่าการตลาดเฉลี่ยที่ 1.85 บาท/ลิตร โดยแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ไม่เกิน 1.85 บาท/ลิตร และดีเซลไม่เกิน 1.50 บาท/ลิตร โดยให้กระทรวงพลังงานเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช. ให้ความเห็นชอบ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีสั่งการไปยังคณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติดำเนินการตามมาตรา 25(1) ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการควบคุมและกำกับราคาสินค้า พ.ศ.2542
5.ขอให้ทบทวนการกำหนดราคาก๊ซปิโตรเลียมเหลว (LPG) สำหรับภาคครัวเรือนหรือก๊าซหุงต้มใหม่ โดยให้กระทรวงพลังงานเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อให้ยกเลิกมติ กพช.ครั้งที่ 122 เมื่อวันที่ 13 พ.ย.51 ซึ่งกำหนดก๊าซ LPG จากโรงแยกก๊าชธรรมชาติให้ภาคครัวเรือนและปิโตรเคมีใช้ก่อน และให้ยกเลิกการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG เต็มรูปแบบ