นายพิเชฐ คุณธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยถึงการดำเนินมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์ - ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์ - รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ตลอดทั้งวันเป็นวันแรกเมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา มีประชาชนมาใช้บริการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) จำนวน 27,411 คน-เที่ยว (รวมรถไฟทางไกลต่อสายสีแดง 254 คน-เที่ยว) และรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) จำนวน 73,878 คน-เที่ยว
โดยเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยวันทำงานช่วงวันที่ 2-12 ต.ค. ที่ผ่านมาก่อนมีมาตรการฯ พบว่า สายสีแดงเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ย 2,135 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 8.45% (ค่าเฉลี่ยสายสีแดง 25,276 คน-เที่ยว) และสายสีม่วงเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ย 3,138 คน-เที่ยวหรือเพิ่มขึ้น 4.44% (ค่าเฉลี่ยสายสีม่วง 70,740 คน-เที่ยว) นอกจากนี้ ยังพบว่า มีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) จำนวน 497,319 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ย 26,973 คน-เที่ยวหรือเพิ่มขึ้น 5.73% (ค่าเฉลี่ยสายสีน้ำเงิน 470,346 คน-เที่ยว) เนื่องจากมีสถานีเชื่อมต่อกับสายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) ที่สถานีเตาปูน
โดยมาตรการปรับอัตราค่าโดยสารตามระยะทางในอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทดังกล่าว คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าผลตอบแทนด้านเศรษฐศาสตร์ ทำให้เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้รถยนต์ โดยเมื่อมีผู้โดยสารมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น จะช่วยลดค่าเดินทางด้วยรถยนต์ ประหยัดเวลาในการเดินทาง ลดความสูญเสียเนื่องจากอุบัติเหตุทางถนน รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเมื่อรวม 5 ปัจจัยข้างต้น จะทำให้มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสิ้น 79.35 ล้านบาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 952.23 ล้านบาทต่อปี ถือเป็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมที่คุ้มค่า
นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางรางได้ประสานธนาคารกรุงไทยและผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้า เร่งรัดดำเนินการปรับปรุงระบบการจัดเก็บค่าโดยสาร ในส่วนของการเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง โดยจะต้องเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีบางซ่อน ภายในระยะเวลา 30 นาที และในเบื้องต้นจะต้องใช้บัตรโดยสารใบเดียวกัน หรือบัตร EMV Contactless เท่านั้น โดยในระยะแรกหากข้ามระบบยังคงต้องชำระอัตราค่าโดยสารของแต่ละสายก่อน เนื่องจากในขณะนี้ อยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบหรือซอฟต์แวร์ คาดว่าจะเปิดให้บริการเชื่อมต่อรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงในอัตราสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสายภายในเดือน พ.ย. 66 นี้ต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะเร่งผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งภายในและภายนอกสถานี เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงระบบราง เช่น ถนนสายหลัก ถนนสายรอง ทางเดิน ทางรถจักรยาน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานภายนอกสถานีที่เอื้ออำนวยการเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟฟ้ากับย่านพาณิชยกรรม ย่านที่อยู่อาศัย และบริการสาธารณะต่างๆ การจัดระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (Feeder System) ที่สามารถนำผู้โดยสารจากที่พักอาศัยเข้าสู่สถานีระบบขนส่งมวลชนทางราง เช่น รถโดยสารประจำทาง รถรับจ้างโดยสารสาธารณะ ขนส่งมวลชนสาธารณะระบบรางเบา หรือขนส่งมวลชนอื่นที่จะเชื่อมโยงการเดินทางจากใจกลางเมืองสู่พื้นที่รอบนอก เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร และจะสามารถเพิ่มจำนวนผู้โดยสารเข้าสู่การเดินทางโดยรถไฟฟ้า ช่วยเพิ่มรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจและลดภาระการชดเชยจากภาครัฐได้ต่อไป
สำหรับยอดผู้ใช้บริการระบบราง (17 ต.ค.) รวมทั้งสิ้น 1,566,998 คน-เที่ยว ประกอบด้วย
1. รถไฟระหว่างเมืองของ รฟท. ให้บริการเดินรถไฟ 213 ขบวน มีผู้ใช้บริการรวม 71,222 คน-เที่ยว แบ่งเป็นขบวนรถเชิงพาณิชย์ 25,050 คน-เที่ยว และขบวนรถเชิงสังคม 46,172 คน-เที่ยว
2. รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 1,495,776 คน-เที่ยว ประกอบด้วย
- รถไฟฟ้า Airport Rail Link ให้บริการ 223 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 8 เที่ยววิ่ง) จำนวน 69,285 คน-เที่ยว
- รถไฟฟ้าสายสีแดง ให้บริการ 294 เที่ยววิ่ง จำนวน 27,411 คน-เที่ยว (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลใช้บริการสายสีแดงฟรี 254 คน-เที่ยว)
- รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ให้บริการ 319 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 3 เที่ยววิ่ง) จำนวน 73,878 คน-เที่ยว
- รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ให้บริการ 487 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 24 เที่ยววิ่ง) จำนวน 497,319 คน-เที่ยว
- รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว (สายสุขุมวิทและสายสีลม) ให้บริการ 1,264 เที่ยววิ่ง จำนวน 785,605 คน-เที่ยว
- รถไฟฟ้า BTS สายสีทอง ให้บริการ 219 เที่ยววิ่ง จำนวน 5,240 คน-เที่ยว
- รถไฟฟ้าสายสีเหลืองให้บริการ 276 เที่ยววิ่ง จำนวน 37,038 คน-เที่ยว