นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีต สส.บัญชีรายชื่อ และประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ของรัฐบาลว่า ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ตนพยายามละเว้นการวิจารณ์นโยบายของพรรคการเมืองคู่แข่ง แต่ในเมื่อรัฐบาลจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ ก็รู้สึกว่าเสียดายเงิน 5.6 แสนล้านบาท โดยมองว่าหากนำเงินจำนวนดังกล่าวมาแจกคนยากจน ประมาณ 10 ล้านคน เป็นจำนวน 1 แสนล้านบาท ก็ยังพอรับได้ แต่หากนำมาแจกให้เศรษฐี และชนชั้นกลาง ซึ่งใช้เงินไม่กี่วันก็หมดนั้น มองว่าเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำโดยใช่เหตุ
"เรานำเงินจำนวนนี้ไปทำประโยชน์ให้กับประเทศได้อีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราสามารถสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ ด้วยเงินเพียง 4 แสนกว่าล้านบาท จะสามารถอยู่ได้เป็นสิบๆ ร้อยๆ ปี เทียบกับที่เราเอามาใช้หมดเปลืองในเวลาเพียงไม่กี่วัน ด้วยเหตุผลว่า ได้หาเสียงไว้แล้ว" นายพิสิฐ กล่าว
พร้อมระบุว่า เห็นด้วยกับนักวิชาการที่ออกมาคัดค้าน อีกทั้งเงินดิจิทัลฯ ยังไม่มีรัฐบาลอื่นใดในโลกทำ จึงถูกจับตามองอย่างเป็นข้อกังขาว่าเหตุใดรัฐบาลถึงมาแตะต้องเรื่องนี้ รวมถึงกฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ระบุไว้ชัดว่า การพิมพ์ธนบัตร และออกเงินตราเป็นหน้าที่ของ ธปท.
"จริงอยู่ ที่กฎหมายอนุญาตว่าเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากรมว.คลัง แต่เชื่อว่าตำแหน่งดังกล่าว ก็ใช่ว่ามีความรู้ก็มาเซ็นอนุมัติ แต่ต้องมีเหตุผล เพราะหากมีการพิมพ์ธนบัตรดิจิทัลปลอมขึ้นมา ใครจะติดตามรับผิดชอบ เพราะยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับผิดชอบเรื่องนี้ ทำไมจึงใช้ช่องว่างของกฎหมายให้ รมว.คลัง ดำเนินการได้" นายพิสิฐ กล่าว
นอกจากนี้ การชดเชยการขาดดุลก็ยังไม่ชัดเจน แต่เท่าที่ฟังจากนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ชี้แจง เห็นว่าจะนำมาจากงบประมาณที่รัฐเก็บได้สูงเกินเป้าหมาย แต่ความจริง เงินจำนวนดังกล่าวถือเป็นเงินคงคลัง ซึ่งวิธีดังกล่าวจึงเป็นการเบียดบังเงินคงคลังโดยใช่เหตุ และหากจะนำเงินของธนาคารออมสินมาใช้ เงินดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นของนักเรียนที่ส่งเสริมให้เด็กออมเงิน แปลว่ารัฐบาลนี้ทำตัวอย่างที่ไม่ดี คือนำเงินมาแจกให้บริโภค ซึ่งเป็นเรื่องย้อนแย้งกัน
"ธนาคารออมสิน ก่อตั้งโดยรัชกาลที่ 6 และมีคำว่า 'ออม' อยู่ในชื่อ แต่กลายเป็นว่ารัฐบาลนี้ ริอ่านจะนำเงินนี้มาผลาญเล่น ซึ่งจะกลายเป็นหนี้สาธารณะ ที่อนาคตเราก็ต้องมาเก็บภาษีคืนให้ ซึ่งก็ไม่ถูกต้อง" นายพิสิฐ กล่าว
พร้อมกันนี้ ยังไม่เชื่อว่างบประมาณของนโยบายดังกล่าวจะมาจากงบประมาณปี 2567 เพราะต้องใช้เป็นรายจ่าย หากเอาเงินนอกงบประมาณมาใช้ผลาญเล่น ก็จะเกิดผลกระทบกับระบบการเงิน จึงไม่อยากเชื่อว่าจะนำอนาคตมาเสี่ยงอย่างที่หลายคนเตือน
ขณะเดียวกัน ทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็ตั้งแท่นศึกษาแล้วว่าจะเป็นการทุจริตครั้งใหญ่หรือไม่ ส่วนกรณีหุ้นตกนั้น ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนความรู้สึกของนักลงทุน ว่าไม่มั่นใจกับโครงการนี้