นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อปรับลดราคาขายปลีกกลุ่มเบนซินทั้งระบบ เบื้องต้นจะนำร่องลดราคาแก๊สโซฮอล์ 91 ในอัตรา 2.50 บาทต่อลิตร จากการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซิน แต่จะเป็นตัวเลขนี้หรือไม่จะต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนว่าสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน คาดว่าจะมีความชัดเจนในหลักการภายใน 1 สัปดาห์ จากนั้นจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ภายในสองสัปดาห์
ทั้งนี้สาเหตุที่เลือกลดราคาแก๊สโซฮอล์ 91 ก่อนนั้น เนื่องจากมีเนื้อน้ำมันมีราคาต่ำสุดและจะเป็นภาระกับรัฐบาลน้อยที่สุด ส่วนกรอบระยะเวลานั้น คาดว่าจะเป็นไปในแนวทางเดียวกับกลุ่มน้ำมันดีเซล คือถึงสิ้นปีนี้ หลังจากนั้นจะมีการพิจารณาว่าจะมีนโยบายอย่างไรต่อไป
นอกจากนี้กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาการช่วยเหลือให้กลุ่มเกษตรกรได้ใช้น้ำมันราคาถูก เหมือนกับกลุ่มชาวประมง ที่มีน้ำมันเขียว ซึ่งในส่วนนี้ จะเร่งดำเนินการออกกฎหมายมารองรับ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ประกาศใช้เป็นครั้งๆ ไป เมื่อมีปัญหาก็ต้องมาพิจารณาเป็นรายครั้ง แต่กระทรวงฯต้องการให้ทั้งสองกลุ่มนี้ได้ใช้น้ำมันในราคาถูก ซึ่งกฎหมายที่จะออกมารองรับสองกลุ่มนี้ คาดว่าจะดำเนินการได้ก่อนสิ้นปีนี้
นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า พลังงานเป็นเรื่องสำคัญในการดำรงชีวิต ซึ่งหน้าที่ที่สำคัญของกระทรวงพลังงาน คือ การสร้างความมั่นคง ให้ประชาชนทุกระดับมีพลังงานใช้ ในราคาที่เป็นธรรม เหมาะสม โดยจะเน้นประชาชนเป็นหลัก แต่ก็จะไม่ให้ผู้ที่ดำเนินธุรกิจได้รับผลกระทบหรือได้รับผลประโยชน์มากเกินไป ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานอาจถูกมองว่าเป็นกระทรวงที่ดำเนินนโยบายเอื้อกลุ่มทุน แต่ด้วยกฎหมายที่อาจจะไม่ได้มีการแก้ไขมานาน จึงทำให้อำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงานอาจจะไม่เอื้ออำนวย ดังนั้น การปรับแก้กฎหมายต่างๆ ก็จะเป็นทางออกที่ช่วยให้เกิดการปรับโครงสร้างด้านพลังงาน
นอกจากนั้น ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านพลังงานก้าวหน้าค่อนข้างมาก คนไทยสามารถผลิตพลังงานได้ด้วยตนเองในรูปแบบต่างๆ ซึ่งหากกระทรวงพลังงานให้การสนับสนุน ก็จะเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เชื่อมโยงกับประชาชน ก็จะสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประสานงาน ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้ ก็จะสามารถลดการนำเข้าพลังงานของประเทศได้ด้วย
ส่วนนโยบายรัฐบาลซึ่งนำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้วางนโยบายไว้ทั้ง 3 ระดับ โดยระยะสั้น คือ การลดค่าใข้จ่ายด้านพลังงานเพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งจากที่ผ่านมา หลังจากรับตำแหน่งได้เพียง 1 เดือน ก็ได้ดำเนินนโยบายจนสามารถลดค่าไฟฟ้าให้เหลือ 3.99 บาท และใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลดราคาน้ำมันดีเซลให้ไม่เกิน 30 บาท ส่วนในระยะกลาง คือ การแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินนโยบาย และในระยะยาว คือ การปรับโครงสร้างเพื่อให้การดำเนินนโยบายหลังจากเปลี่ยนรัฐบาลไปแล้ว กระทรวงพลังงานก็ยังสามารถดำเนินนโยบายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน แม้กระทรวงพลังงานจะเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณแผ่นดินน้อยที่สุด
"ผมจะเร่งดำเนินทุกมาตรการ เพื่อ เร่ง ลด ปลด สร้าง นโยบาย มาตรการ กฎหมายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการทำงาน ซึ่งจะเน้นปรับโครงสร้างด้านพลังงาน โดยเฉพาะค่าน้ำมัน จะเข้าไปรื้อโครงสร้างราคาเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้มีการตั้งราคาน้ำมันที่เหมาะสม และอาจมีการลดชนิดน้ำมันในอนาคต รวมทั้งนำนโยบายรัฐบาลทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว มาดำเนินการ ผมเชื่อว่า ผู้บริหารกระทรวงพลังงานทุกท่านมีความรู้ความสามารถ แต่ที่ผ่านมาอาจจะติดเรื่องอุปสรรคในข้อกฎหมาย ซึ่งผมจะเข้ามาแก้ไขหรือจะออกกฎหมายใหม่ เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้รับการช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด" นายพีระพันธุ์ กล่าว