นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยถึงดัชนีตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลงมากในช่วงที่ผ่านมาว่า ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งเข้าใจว่าที่หุ้นลดลงคงเป็นเพราะส่วนต่างดอกเบี้ยสหรัฐกับไทย ส่งผลทำให้เงินทุนไหลออกทั้งตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตร และผลกระทบหลักจากปัจจัยเรื่องสงคราม
อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปศึกษาผลกระทบจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีข้อเป็นห่วงถึงจากสถานการณ์ดังกล่าวในหลายประเด็น เช่น 1.ภาวะสงครามจะมีความยืดเยื้อหรือไม่ 2.สงครามจะลุกลามหรือไม่ และ 3.เสถียรภาพราคาพลังงานของโลกจะเป็นอย่างไร
"ทั้งหมดก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระดับหนึ่ง จากสภาพเศรษฐกิจไทย ที่มองว่ายังมีความเปราะบางพอสมควร" รมช.คลัง กล่าว
ทั้งนี้ แม้จะมีการมองว่าที่ผ่านมาการบริโภคภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวแล้ว แต่เมื่อพิจารณาจากเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการฟื้นตัวแบบร้อนแรง มีการขึ้นดอกเบี้ยห่างจากไทยไปมากกว่า 2 บาท ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องมาอยู่ที่ 2.50% ต่อปี หลังจากปรับแล้วอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ที่ 0.3-0.5% ในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา โดยเศรษฐกิจโลกกำลังโต แต่ก็เห็นสัญญาณแปลก ๆ ว่าเศรษฐกิจไทยกลับอยู่ในช่วงชะลอตัว
"ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้เร่งเดินสายต่างประเทศ และให้ความสำคัญกับภูมิรัฐศาสตร์ มีการพูดคุยทั้งกับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ และนักลงทุน โดยพยายามดึงการลงทุน และสร้างความมั่นใจให้กับประเทศ หลังจากที่ผ่านมาเราสูญเสียความสามารถในการแข่งขันมานาน ส่วนข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่นักลงทุนเป็นกังวล เมื่อได้ข้อสรุปทั้งหมด ก็จะประกาศชัดเจน และยืนยันว่ารัฐบาลจะยึดมั่นในกรอบกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ไม่ให้กระทบตลาดทุนมากนัก" นายจุลพันธ์ กล่าว
สำหรับข้อเสนอที่ให้ลดภาษีน้ำมันเบนซิน เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชนนั้น แม้ว่าจะกระทบต่อการจัดเก็บรายได้รัฐบ้าง แต่ถ้ามีความจำเป็น ก็สามารถบริหารจัดการได้ โดยในปีงบประมาณ 2566 ก็สามารถจัดเก็บรายได้เกินเป้าหมายไประดับหนึ่งแล้ว ดังนั้นจึงมองว่าไม่มีผลกระทบมากนัก