นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่ผู้บริหารกรมการขนส่งทางราง (ขร.) พร้อมได้มอบหมายให้ดำเนินการติดตามและประเมินผลนโยบายค่าอัตราค่ารถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย โดยนำร่อง 2 โครงการ คือ 1.โครงการรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ และ 2.โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต (สายธานีรัถยา) และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน (สายนครวิถี) ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา
รวมถึงการพัฒนาโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ทั้ง 3 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงรังสิต - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ช่วงตลิ่งชัน - ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน - ศิริราช เพื่อให้เป็นไปตามแผนการเปิดให้บริการภายในปี 2570 และโครงการรถไฟอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟทางคู่ โดยเร่งรัดก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 ที่กำลังก่อสร้างอยู่ 4 โครงการ และให้เร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 โครงการ รวมถึงการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟสายใหม่และโครงการพัฒนาทางรถไฟเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรม ระยะเร่งด่วน (ปี พ.ศ. 2566 - 2570) เพื่อช่วยส่งเสริมการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศ และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน
และได้เน้นย้ำเรื่องการพัฒนาระบบ feeder ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะสนับสนุนให้ระบบการขนส่งทางรางเป็นระบบการขนส่งหลักของประเทศในอนาคตและใช้ประโยชน์จากระบบรางได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในทุกด้าน รวมถึงการเพิ่มความสะดวกปลอดภัยสำหรับประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟทางจังหวัดภาคใต้ พร้อมพลักดัน พรบ.การขนส่งทางราง ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ภายในปี 67
กรมการขนส่งทางราง มีภารกิจเดินหน้า (1)โครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 12 สายทาง ระยะทาง 242.34 กม.)
- การเร่งรัดโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 5 โครงการ (สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ความคืบหน้า 98.37% และส่วนต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ความคืบหน้า 32.85% /สายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี ความคืบหน้างานโยธา 100% /แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ พญาไท-ดอนเมือง อยู่ระหว่างรื้อย้ายสาธารณูปโภคและเวนคืนพื้นที่ / สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ความคืบหน้างานโยธา 18.68%)
- ส่งเสริมการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล พื้นที่ต่อเนื่องระยะ 2 (M-Map 2) เพื่อบรรเทาการจราจรติดขัดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางราง ลดความซ้ำซ้อน ลดการลงทุนและงบประมาณในโครงข่ายที่ไม่มีความจำเป็น ตลอดจนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาและแนวคิดการวางผังเมืองในอนาคต
(2) โครงข่ายระบบขนส่งทางรางระหว่างเมือง (โครงข่ายทางรถไฟระยะทางรวม 4,044 กม. ครอบคลุม 47 จังหวัด แบ่งเป็น ทางเดี่ยว 3,310 กม. ทางคู่ 627 กม. ทางสาม 107 กม.)
- ติดตาม เร่งรัดโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 4 โครงการ ระยะทาง 613 กม. และทางสายใหม่ 2 โครงการ ระยะทาง 677 กม.
- ติดตาม เร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 โครงการ ระยะทางรวม 473 กม.
- ส่งเสริมการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุม และเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศและรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ (R-Map) เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ การกระจายโอกาส การพัฒนาความเจริญสู่ระดับจังหวัดและภูมิภาค และยกกระดับคุณภาพชีวิตและการเดินทางของประชาชน