นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงแนวโน้มโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ที่รัฐบาลอาจต้องเลื่อนออกไปจากกำหนดเดิมในเดือนก.พ.67 ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องธรรมดาที่ทั่วโลกรวมทั้งไทยทำมาตลอด แต่ครั้งนี้พิเศษ เนื่องจากรัฐบาลมีแผนแจกเงินดิจิทัลให้ประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งมีประมาณ 56 ล้านคน ใช้งบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท โดยเป็นเรื่องใหม่ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลวอลเล็ตมาใช้ ซึ่งระบบดังกล่าว จะเข้ามามีส่วนในการตรวจสอบความแม่นยำ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
ดังนั้น จากข่าวที่บอกว่าอาจต้องเลื่อนวันแจกเงินออกไปจากเดิม 1 ก.พ. 67 นั้น เนื่องจากรัฐบาลต้องทำทุกอย่างให้ชัดเจน พอเป็นของใหม่ ทุกคนจึงมีข้อสงสัยเยอะ ซึ่งคิดว่าภาครัฐก็ให้ความสำคัญกับทุกเสียง และนำไปแก้ไข ดังนั้น โจทย์ของรัฐบาลจึงมีจำนวนมาก จึงต้องดำเนินการให้ออกมาเกิดความสมบูรณืที่สุด เพื่อตอบโจทย์ทุกคน
"การแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ต้องทำ ในภาวะที่ขณะนี้กำลังซื้อลดลง จากทั้งดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯ และภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น" นายเกรียงไกร กล่าว
ส่วนการเริ่มโครงการที่อาจจะล่าช้าไปจากเดือนก.พ.นั้น เชื่อว่าไม่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นมากนัก เนื่องจากมีความเชื่อว่าการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลที่พรรคเพื่อไทยต้องทำอยู่แล้ว ส่วนแหล่งที่มาของเงินที่หลายฝ่ายกังวลนั้น ในฐานะของผู้ประกอบการ นักธุรกิจ มองว่ารัฐบาลคงมีวิธีในการหาแหล่งเงินที่ถูกกฎหมายอยู่แล้ว พร้อมเชื่อว่ารัฐบาลจะทำนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ตออกมาแน่นอน
"ตัวอย่างความเห็นของประชาชน เช่น เงื่อนไขการนำมาใช้ในระยะรัศมี 4 กิโลเมตรนั้น บางพื้นที่ ไม่มีให้จับจ่ายใช้สอย ซึ่งรัฐก็อาจจะกำลังปรับใหม่ อาจทำให้พื้นที่ใหญ่ขึ้น ปรับเป็นอำเภอ หรือถ้ายังเล็กไปก็เป็นหลายอำเภอ คิดว่าเขากำลังจับกลุ่มอยู่ ต้องให้เวลา คิดว่ายังไงคงได้ตังค์แน่ แต่ว่าจะเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ภาครัฐทำเต็มที่อยู่แล้ว" นายเกรียงไกร กล่าว
ประธาน ส.อ.ท. กล่าวถึงสถานการณ์สงครามอิสราเอลและกลุ่มฮามาสว่า ในส่วนของผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมนั้น เนื่องจากการค้าขายโดยตรงระหว่างไทยกับอิสราเอลมีมูลค่าไม่มากนัก เมื่อเทียบสัดส่วนกับประเทศอื่น ซึ่งถือว่าน้อย ดังนั้นในทางตรงเราได้รับผลกระทบสั้นๆ แต่ผลกระทบทางจิตวิทยา คาดว่าอาจกระทบราคาน้ำมัน เนื่องจากอิสราเอลอยู่ใกล้ตะวันออกกลาง
ทั้งนี้ หากสถานการณ์สงครามไม่บานปลาย แต่ก็อาจมีผลกดดันราคาน้ำมัน ประกอบกับเป็นช่วงใกล้ฤดูหนาว ราคาน้ำมันจึงขยับขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 80-90 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่เชื่อว่าคงไม่ทะลุ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่หากสถานการณ์บานปลาย และมีการโจมตีภาคพื้นดิน หรือมีกองกำลังจากประเทศอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย อาจทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น ก็อาจจะส่งผลกระทบได้ ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป