นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนก.ย.66 ว่า การส่งออก มีมูลค่า 25,476 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 2.1% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากตลาดคาด หดตัว 1.75-2.00% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 23,383 ล้านดอลลาร์ ลดลง 8.3% ส่งผลให้เดือนก.ย. ไทยเกินดุลการค้า 2,093 ล้านดอลลาร์
ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.66) การส่งออก มีมูลค่ารวม 213,069 ล้านดอลลาร์ ลดลง 3.8% การนำเข้า มีมูลค่ารวม 218,902 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ 9 เดือนแรกปีนี้ ไทยขาดดุลการค้า 5,833 ล้านดอลลาร์
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกของไทย ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยได้รับแรงหนุนจากการการส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไปจีน อาทิ ทุเรียน และมังคุด รวมทั้งการส่งออกข้าวที่ขยายตัวได้ดีในตลาดแอฟริกาใต้และอินโดนีเซีย ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมดาวรุ่งที่ขยายตัวต่อเนื่อง ยังคงเป็นสินค้าที่เติบโตตามเมกะเทรนด์ เช่น โซลาเซลล์ และโทรศัพท์มือถือ
ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนสำคัญต่อการส่งออกไทย คือ 1.ความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ในการผลักดันและแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า 2.ภาวะภัยแล้ง ส่งผลให้ต่างประเทศเร่งนำเข้าสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต และ 3.การส่งออกได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจีนในเดือนก.ย.
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยท้าทายสำคัญ คือ ภาคการผลิตโลกเดือนก.ย.นี้ ยังคงอยู่ในภาวะหดตัว การฟื้นตัวของตลาดหลักยังไม่ทั่วถึง จากปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการคงอัตราดอกเบี้ยสูงยาวนาน ส่งผลชะลออุปสงค์ทั่วโลก
ทั้งนี้ หากพิจารณาในรายกลุ่มสินค้า จะพบว่าในเดือนก.ย.นี้ กลุ่มสินค้าเกษตร ขยายตัว 17.7% ที่มูลค่า 2,361 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยสินค้าเกษตรที่ขยายตัวดี ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวถึง 166.2%, ข้าว ขยายตัว 51.4% และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัว 3.7%
ส่วนกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 5.4% ที่มูลค่า 1,827 ล้านดอลลาร์ กลับมาขยายตัวได้ในรอบ 6 เดือน โดยสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัว 27.1% ผักกระป๋องและผักแปรรูป ขยายตัว 17.3% น้ำตาลทราย ขยายตัว 16.3% ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัว 12.8%
ขณะที่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 0.3% ที่มูลค่า 20,213 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการกลับมาหดตัวจากที่สามารถขยายตัวได้ในเดือนก่อนหน้า แต่สินค้าที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้า ขยายตัว 46.4% อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัว 28.8% อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 27.3% เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 23.9% และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 3.3%
โดยตลาดส่งออกของไทยเดือนก.ย. ที่สามารถขยายตัวได้สูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัว 749.8% อันดับ 2 บังกลาเทศ ขยายตัว 93.9% อันดับ 3 ฮ่องกง ขยายตัว 80.4% อันดับ 4 แอฟริกาใต้ ขยายตัว 70.5% อันดับ 5 รัสเซีย ขยายตัว 46.6% อันดับ 6 ซาอุดีอาระเบีย ขยายตัว 27.6% อันดับ 7 บรูไน ขยายตัว 21.8% อันดับ 8 ฟิลิปปินส์ ขยายตัว 17.5% อันดับ 9 จีน ขยายตัว 14.4% และอันดับ 10 อินโดนีเซีย ขยายตัว 13.5%
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า สถานการณ์ส่งออกของไทยเดือนก.ย. หากเทียบกับประเทศในภูมิภาค พบว่า การส่งออกของไทยดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ซึ่งในเดือนก.ย.นี้ มีเพียงไทยและเวียดนาม ที่มูลค่าการส่งออกเติบโตเป็นบวก ในขณะที่ประเทศอื่นติดลบ เช่น อินเดีย, เกาหลีใต้, จีน, สิงคโปร์, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น
พร้อมกันนี้ ประเมินว่า การส่งออกในไตรมาส 4 ของปี 2566 จะมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการทยอยฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า ที่ต่างออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และอุปสรรคด้านห่วงโซ่อุปทานคลี่คลายลงจากปีก่อนที่ต้องเผชิญกับโควิด-19 ขณะที่กระแสความมั่นคงทางอาหาร และแรงส่งจากภาคบริการ และท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปลายปี จะช่วยหนุนการส่งออกสินค้าเกษตร และอาหารที่ไทยมีศักยภาพ สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมยังสามารถเติบโตได้ตามเทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัล และพลังงานสะอาด
นายกีรติ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชน ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้า และเดินหน้าเจรจาความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งติดตามเฝ้าระวังความเสี่ยงใหม่ ๆ จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส
โดยปัญหาสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสนั้น ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เชื่อว่า ถ้าปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวยังอยู่ในวงจำกัด ไม่ขยายวงกว้าง ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการขนส่งและโลจิสติกส์ในการส่งออกสินค้าไปอิสราเอลมากนัก อีกทั้งในแต่ละปีไทยส่งออกสินค้าไปอิสราเอล แค่เพียง 0.2-0.3% ของมูลค่าการส่งออกโดยรวมเท่านั้น ซึ่งการส่งออกไปอิสราเอลไม่ได้มีนัยสำคัญมากนักต่อการส่งออกของไทยโดยรวม
ทั้งนี้ เชื่อว่าถ้าสถานการณ์ความขัดแย้งไม่ลุกลามบานปลาย การส่งออกของไทยในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ ก็น่าจะเห็นทิศทางที่ดีขึ้น และทำให้ภาพรวมการส่งออกทั้งปีของไทย อาจจะติดลบไม่เกิน 1% ซึ่งเป็นการติดลบน้อยกว่าที่หลายหน่วยงานได้ประเมินไว้
"ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ถ้ายังขีดวงจำกัด ก็ไม่น่าจะกระทบกับการขนส่งสินค้า ซึ่งหากดูตามทิศทางแล้ว เชื่อว่าช่วง 3 เดือนหลังของปีนี้ (ต.ค.-ธ.ค.) แนวโน้มการส่งออกน่าจะดีขึ้น แต่ก็ยังต้องติดตามปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ คือ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์...3 เดือนที่เหลือ น่าจะติดลบน้อยกว่าที่หลายสำนักคาดการณ์ ค่าเงินบาทที่ทรงๆ ก็เป็นอีกปัจจัยที่มาช่วยได้ นอกจากนี้ เป็นช่วงฤดูกาลใกล้คริสมาสต์ ปีใหม่ ก็จะมี order เข้ามาเพิ่มเติม ทำให้แนวโน้มส่งออกทั้งปีดีขึ้น แต่คงไม่ได้กลับมาเป็นบวก แต่น่าจะติดลบน้อยลง ไม่เกิน -1%" นายกีรติ กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้ทำตัวเลขคาดการณ์ส่งออกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งถ้าจะให้ทั้งปี 66 การส่งออก โต 1% นั้น ในแต่ละเดือนที่เหลือ ต้องส่งออกได้ 25,743 ล้านดอลลาร์ แต่หากทั้งปี 0% ในแต่ละเดือนต้องส่งออกได้ 24,785 ล้านดอลลาร์ และถ้าหากส่งออกทั้งปี -1% ในแต่ละเดือนต้องส่งออกได้ 23,827 ล้านดอลลาร์
ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก เชื่อว่า การส่งออกของไทยในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ ยังมีแนวโน้มที่ดี เพราะหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาส 4/65) จะพบว่าในช่วงนั้นการส่งออกของไทยประสบปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ตลอดจนปัญหาขาดแคลนชิปในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ รวมถึงปัญหาการขนส่งทางเรือ ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์เหล่านี้ได้คลี่คลายลงแล้ว จึงเชื่อว่าการส่งออกของไทยปีนี้ จะติดลบน้อยสุดที่ -1%