ฝ่ายวิจัยแบงก์เอกชน-รัฐ มองหลายปัจจัยเสี่ยงกดดันส่งออกไทยปีนี้หดตัว 1-2.5% แม้สัญญาณเริ่มฟื้น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 25, 2023 11:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฝ่ายวิจัยแบงก์เอกชน-รัฐ มองหลายปัจจัยเสี่ยงกดดันส่งออกไทยปีนี้หดตัว 1-2.5% แม้สัญญาณเริ่มฟื้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองว่า การส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปี 2566 (ต.ค.-ธ.ค.) ยังได้รับแรงกดดันจากบรรยากาศการค้าโลกที่ชะลอตัว เนื่องจากปัจจัยความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลกมีมากขึ้น โดยความตึงเครียดจากความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้น อาทิ อิสราเอล-กลุ่มฮามาส และรัสเซีย-ยูเครน อีกทั้งยังมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่อาจเข้ามากดดันการส่งออกไทย เช่น ความผันผวนของค่าเงิน สภาพอากาศที่แปรปรวน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจัยของฐานที่ต่ำในไตรมาสที่ 4/2565 รวมถึงการส่งออกที่พลิกกลับมาเป็นบวกในเดือน ส.ค. และ ก.ย. 66 จึงคาดว่าการส่งออกของไทยทั้งปีนี้ จะหดตัวที่ -2.5% แต่หากสัญญาณการส่งออกไทยยังปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลให้มีโอกาสที่การหดตัวจะลดลงจากที่คาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ รายงานล่าสุดว่า การส่งออกไทยในเดือนก.ย. 66 เพิ่มขึ้น 2.1% (YoY) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยการส่งออกผลไม้ไปจีนยังเติบโตได้ และส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกไทยไปจีนขยายตัวได้ถึง 14.4%YoY นอกจากนี้ การส่งออกอัญมนีและเครื่องประดับ (รวมทองคำ) ขยายตัวได้อย่างมีนัยสำคัญในเดือนก.ย.นี้ แม้ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยชั่วคราว จากงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของกระทรวงพาณิชย์ในเดือนเดียวกัน แต่ปัจจัยด้านราคา ยังอาจช่วยหนุนการส่งออกทองคำของไทยระยะข้างหน้า

ขณะที่ Krungthai COMPASS คงมุมมองเดิม ที่คาดว่าการส่งออกของไทยปี 2566 มีแนวโน้มหดตัวที่ -1.6% พร้อมแนะจับตาอุปสงค์ของประเทศตลาดหลักที่อ่อนแอ ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกสินค้าในช่วงปลายปี ทั้งนี้ เนื่องจากภาคการผลิตของประเทศเศรษฐกิจหลักในเดือน ต.ค. ยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง

สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ภาคการผลิตเดือน ต.ค. (Flash Manufacturing PMI) ของประเทศญี่ปุ่น และยุโรป อยู่ในระดับหดตัวจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่ปรับลดลงต่อเนื่อง สำหรับสหรัฐฯ แม้ดัชนีจะอยู่ที่ระดับ 50 สะท้อนถึงภาคการผลิตมีแนวโน้มทรงตัวจากเดือนก่อน แต่ผู้ผลิตยังคงรักษาระดับสินค้าคงคลังในระดับต่ำ ตามอุปสงค์ที่ยังอ่อนแอ และทำให้การส่งออกสินค้าในช่วงไตรมาสที่ 4 อาจฟื้นตัวได้จำกัด

ดังนั้น Krungthai COMPASS จึงคงประมาณการมูลค่าการส่งออกของไทยปีนี้ มีแนวโน้มหดตัวที่ -1.6% และสอดคล้องกับทิศทางการส่งออกของประเทศในภูมิภาคส่วนใหญ่ ซึ่งหดตัวต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานมูลค่าส่งออกของไทยเดือน ก.ย.66 อยู่ที่ 25,476.3 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 2.1%YoY สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ตามการส่งออกสินค้าเกษตรที่ขยายตัวต่อเนื่อง และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่กลับมาขยายตัว ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาหดตัวเล็กน้อย ขณะที่การนำเข้าเดือน ก.ย.66 หดตัวที่ -8.3% ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน ก.ย. เกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ระดับ 2,092.7 ล้านดอลลาร์ฯ

ส่วน EXIM BANK ระบุว่า แม้การส่งออกของไทยในไตรมาส 4 ปี 2566 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้จากหลายปัจจัยข้างต้น และผลของฐานมูลค่าส่งออกที่สูงในช่วง 3 ไตรมาสแรกปี 2565 ที่หมดไป แต่มูลค่าการส่งออกของไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ที่หดตัวมากกว่าคาดที่ 3.8% ทำให้ EXIM BANK คาดว่าการส่งออกของไทยทั้งปี 2566 จะหดตัวที่ราว -2% ถึง -1%

โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยถึง EXIM Index ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566 ว่า ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 100.04 จาก 99.6 ในไตรมาสก่อนหน้า นับเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส ที่ดัชนีมีค่ามากกว่า 100 สะท้อนมูลค่าการส่งออกของไทยในไตรมาสถัดไป คือ ไตรมาส 4 ปี 2566 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส หลังล่าสุด ตัวเลขการส่งออกเดือนก.ย. 66 สามารถขยายตัวได้เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยได้แรงหนุนจากการปรับเพิ่มขึ้นเกือบทุกองค์ประกอบของดัชนี ดังนี้

  • ด้านอุปสงค์ (Demand) ดัชนีด้านอุปสงค์ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 99.5 ในไตรมาสก่อนหน้ามาอยู่ที่ 100.0 ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี สะท้อนว่าอุปสงค์ในตลาดโลกเริ่มทยอยฟื้นตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่ยังขยายตัวจากภาคบริการและตลาดแรงงาน สอดคล้องกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ล่าสุดปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศในปี 2566 มาอยู่ที่ 2.1% และ 2.0% ตามลำดับ

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจจีนก็เริ่มมีโมเมนตัมที่ดีขึ้นอย่างช้าๆ สะท้อนได้จาก GDP ไตรมาส 3 ปี 2566 ออกมาดีกว่าคาดที่ 4.9% และเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่หลายแห่งยังไปต่อได้ อาทิ อินเดีย แอฟริกา เป็นต้น ช่วยหนุนความต้องการสินค้าหลายชนิดของไทย อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยุโรปที่ยังถูกกดดันจากเงินเฟ้อที่ปรับลดลงช้ากว่าหลายภูมิภาค ตลอดจนปัญหาหนี้ที่สูงในบางตลาดยังกดดันกำลังซื้อและอุปสงค์ต่อสินค้าไทยในระดับหนึ่ง

  • ด้านอุปทาน (Supply) ดัชนีด้านอุปทานปรับลดลงจากระดับ 101.3 ในไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ 101.0 แต่ค่าดัชนียังสูงกว่า 100 เป็นไตรมาสที่ 6 ติดต่อกัน สะท้อนปัญหา Global Supply Chain Disruption คลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง จากค่าระวางเรือที่ปรับลดลงจากปีก่อนกว่า 80% และปัญหาขาดแคลนชิปทั่วโลกที่ปรับตัวดีขึ้น หนุนให้การส่งออกสินค้าส่งออกของไทยที่ต้องใช้ชิปเป็นส่วนประกอบขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนและภาคการผลิตของไทยที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ สะท้อนได้จากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยที่หดตัวมาแล้ว 11 เดือนติดต่อกัน ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตส่วนเกินก็ยังมีอยู่ (อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ต่ำกว่าระดับ 60 เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก

  • ด้านราคา (Price) ดัชนีด้านราคาปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 99.1 ในไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 99.7 แต่ค่าดัชนียังต่ำกว่า 100 เป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน โดยเฉพาะราคาน้ำมัน และราคาอาหารโลก ที่แม้จะขยับเพิ่มขึ้นในระยะสั้นจากปัญหา Geopolitics และการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย รวมถึงปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรในหลายพื้นที่ของโลก แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งราคาน้ำมัน และราคาอาหารโลก ยังปรับลดลงเฉลี่ยกว่า 12% ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2566 ส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันของไทยซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 15% ของมูลค่าส่งออกรวม ยังคงหดตัวต่อเนื่อง

แต่ในส่วนของสินค้าเกษตร และอาหารของไทย ยังได้อานิสงส์จากความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น หลังหลายประเทศเร่งนำเข้าจากประเด็นความมั่นคงด้านอาหารจากภาวะภัยแล้ง สะท้อนได้จากปริมาณการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวหลายรายการ ที่ขยายตัวดีต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี อาทิ ข้าว ผลไม้ เป็นต้น

  • ด้านความเชื่อมั่น (Sentiment) ดัชนีด้านความเชื่อมั่นปรับเพิ่มขึ้นจาก 99.4 ในไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 99.7 แต่ค่าดัชนียังต่ำกว่า 100 เป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของโลกโดยรวม ที่ยังถูกกดดันจากอัตราดอกเบี้ย และเงินเฟ้อที่ยังอยู่ระดับสูง ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เร่งตัวขึ้น

อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นบ้าง หลังนักลงทุนเริ่มให้น้ำหนักว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมที่เหลือของปี 2566 สะท้อนได้จาก FedWatch Tool ล่าสุดที่นักลงทุนให้น้ำหนัก 99.6% และ 75.2% ว่า Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม 2 ครั้งที่เหลือ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ซึ่งหากยืดเยื้อหรือลุกลาม จะส่งผลกระทบต่อโมเมนตัมเศรษฐกิจ และบรรยากาศการค้าโลกโดยรวมในระยะถัดไปได้เช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ