อนุกก.ดิจิทัลวอลเล็ต ชง 3 เกณฑ์ตัดสิทธิ "คนรวย" เสนอนายกฯ ฟันธง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 25, 2023 18:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ในวันนี้ มีความเห็นให้ปรับเงื่อนไขการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต โดยให้สามารถใช้ได้ภายในอำเภอ จากเดิมแค่รัศมี 4 กิโลเมตร เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่ไม่ใหญ่เกินไป มีร้านค้าเพียงพอ

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่ายังมีความเห็นแตกต่างในที่ประชุม ที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ซึ่งจะต้องนำเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้ประชุมตัดสินใจในสัปดาห์หน้า เพราะขณะนี้ยังมีมุมมองที่แตกต่าง

"มาตรการนี้ มีความคิดเห็นเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งก็ตั้งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องการให้คนเข้าร่วมจำนวนมาก อีกส่วน ก็มีข้อเสนอให้เอาคนรวยออก ซึ่งคณะทำงานก็ต้องพยายามหาคำจำกัดความของคำว่า คนรวย" รมช.คลัง กล่าว

ทั้งนี้ ได้เตรียม 3 ทางเลือก เพื่อให้คณะกรรมการชุดใหญ่ได้ตัดสินใจ คือ

1. ให้สิทธิเฉพาะผู้ยากไร้ ราว 15-16 ล้านคน โดยใช้ฐานข้อมูลจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้งบประมาณราว 1.5 แสนล้านบาท

2. ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 25,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 1 แสนบาทออก จะเหลือผู้ได้สิทธิ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 4.3 แสนล้านบาท

3. ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 50,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 5 แสนบาทออก จะเหลือผู้ได้สิทธิ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 4.9 แสนล้านบาท

"เมื่อมีความเห็นต่าง เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจ คณะอนุกรรมการฯ จะไปดูแต่ละกลุ่ม ว่าครอบคลุมเท่าไร และจะเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่ ตัดสินใจรายละเอียด" รมช.คลัง กล่าว

สำหรับประเด็นการยืนยันตัวตน เป็นไปตามสิทธิ คือ ครอบคลุมทั้งบุคคลธรรมดา นิติบุคคล กองทุนหมู่บ้าน และวิสาหกิจชุมชน โดยใช้จ่ายในประเภทสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ส่วนระบบการขึ้นเงิน สามารถทำได้กับร้านค้าระบบภาษี 3 ประเภท ทั้งร้านค้าในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินได้นิติบุคคล และบุคคธรรมดา

รมช.คลัง ยอมรับว่าแนวโน้มการเริ่มใช้โครงการดิจิทัลวอลเล็ต อาจจะล่าช้าออกไปในระดับหนึ่ง จากเดิมที่กำหนดไว้เป็นวันที่ 1 ก.พ.2567 แต่ก็ทำให้มีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น ในเรื่องระบบความปลอดภัย กระบวนการทดสอบระบบ

พร้อมยืนยันว่า เงินที่จะใช้ในโครงการนี้ คาดว่าจะมาจากงบประมาณเป็นหลัก ไม่ได้ใช้เงินจากธนาคารออมสิน

นอกจากนี้ ในส่วนของการกู้เงินเพื่อมาใช้ในโครงการนั้น ก็จะบรรจุในแนวทางที่จะเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาด้วยเช่นกัน แต่ยืนยันว่าตรงนี้จะเป็นทางเลือกท้าย ๆ เช่นเดียวกับการใช้มาตรการกึ่งการคลัง ผ่านมาตรา 28 พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง โดยยืนยันว่าในส่วนนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับธนาคารออมสินแล้ว ส่วนหนึ่งเพราะติดขัดข้อกฎหมาย กรอบอำนาจหน้าที่ไม่ครอบคลุมการดำเนินการ

"ยืนยันว่าจะใช้กรอบงบประมาณแผ่นดินเป็นหลักเหมือนเดิม ตามที่ฝ่ายนโยบายได้เคยให้โจทย์ไว้ ส่วนเรื่องออมสินคงไม่เกี่ยวข้องแล้ว เพราะติดขัดข้อกฎหมายและกรอบอำนาจหน้าที่ไม่ครอบคลุม ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไร" รมช.คลัง กล่าว

อย่างไรก็ดี เมื่อมาพิจารณาเรื่องกรอบงบประมาณปี 2567 ซึ่งอาจจะล่าช้าไปราวเดือน เม.ย. -พ.ค.67 ก็ยอมรับว่าโครงการแนวโน้มน่าจะดีเลย์ในระดับหนึ่งจากเดิมวันที่ 1 ก.พ.2567 แต่ก็มีข้อดี คือจะมีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น ในเรื่องความปลอดภัย กระบวนการทดสอบระบบก็มากขึ้น "เราเป็นรัฐบาลที่มาจากรัฐสภา กลไกการใช้งบประมาณแผ่นดินจึงเป็นตัวเลือกแรก เพราะโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีการอนุมัติโดยตัวแทนประชาชน ทั้ง สส. และ สว. กลไกของแหล่งเงินนี้เป็นกลไกที่รัฐบาลเลือกมาโดยตลอด แต่ก็ต้องมาพิจารณาตามกรอบข้อเท็จจริง อยู่ ๆ จะมีงบ 5.6 แสนล้านบาท ยัดเข้าไปทีเดียวในงบประมาณปี 2567 ปีเดียวเลยคงไม่ได้ ต้องมาบริหารจัดการให้โครงการสามารถเดินหน้าได้ภายใต้กรอบกฎหมาย ภายในกรอบงบประมาณที่จำกัด รัฐบาลจะไม่มีการตัดโครงการลงทุน หรือโครงการอื่น ๆ ของรัฐ ทั้งหมดต้องเดินควบคู่กันภายใต้การบริหารจัดการให้ดีที่สุด

ส่วนจะเป็นภาระต่อหนี้สาธารณะหรือไม่นั้น เป็นการขาดดุลตามกรอบงบประมาณที่วางแผนไว้ ไม่มีผลกระทบต่อตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้ และการเลือกใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นหลัก ก็ถือเป็นทางเลือกที่มองแล้วน่าสนใจจริง ๆ"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ