น.สพ.ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติวัดไต นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และได้เข้าร่วมหารือเต็มคณะร่วมกับ นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว โดยต่างแสดงความยินดีที่ได้พบกันเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือให้ใกล้ชิดกัน และประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันที่สำคัญ ได้แก่
ด้านการค้า นายกรัฐมนตรีพร้อมสนับสนุนการเชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจระหว่าง สปป.ลาว กับภาคอีสานของไทย ให้เป็น Growth Area ที่เกื้อกูลกัน พร้อมเห็นควรร่วมกันหาแนวทางลดอุปสรรคและเร่งอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้าที่ 11,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2568 โดยฝ่ายไทยพร้อมจัดการประชุมระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป.ลาว ครั้งต่อไป เพื่อกำหนดแนวทางในการเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกันต่อไป
ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านความเชื่อมโยง นายกรัฐมนตรีย้ำการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล สปป.ลาว ที่ต้องการเปลี่ยนประเทศจาก Land-locked เป็น Land-linked และพร้อมสานต่อการทำงานร่วมกับฝ่าย สปป.ลาว ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่งระหว่างสองประเทศ
สำหรับความเชื่อมโยงทางระบบราง นายกรัฐมนตรีขอให้ทั้งสองฝ่ายเร่งรัดการหารือรายละเอียดเพื่อเริ่มก่อสร้างสะพานสำหรับรถไฟข้ามแม่น้ำโขง (หนองคาย-เวียงจันทน์) โดยไทยพร้อมสนับสนุนแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยอัตราพิเศษ นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีขอให้ทั้งสองฝ่ายเร่งรัดการจัดทำกรอบความตกลง (Technical Arrangement) เพื่อเริ่มเดินรถไฟระหว่างสถานีท่านาแล้งมาถึงสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ได้ในต้นปีหน้า ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเดินทางและการท่องเที่ยวระหว่างกัน
ส่วนความเชื่อมโยงทางถนนและสะพาน นายกรัฐมนตรียินดีที่หลายโครงการมีความคืบหน้า ทั้งโครงการสะพานมิตรภาพ แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ซึ่งก่อสร้างใกล้เสร็จสมบูรณ์ โครงการสะพานมิตรภาพ แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในหลักการแล้ว รวมถึงโครงการปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 12 (นครพนม/ท่าแขก แขวงคำม่วน-นาเพ้า แขวงบอลิคำไซ/ จาลอ จังหวัดกว่างบิงห์ เวียดนาม) เพื่อช่วยส่งเสริมการขนส่งระหว่างไทย-สปป. ลาว-เวียดนาม-จีน ให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น และพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนตามแนวเส้นทางนี้ด้วย
ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์
- ในด้านระบบราง นายกรัฐมนตรีขอให้ทั้งสองฝ่ายร่วมพิจารณาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการลดระยะเวลาและต้นทุนการขนส่ง ทั้งนี้ฝ่ายลาวรับสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาร่วมกัน โดยขอให้มีการกำหนดอัตราค่าบริการ (handling charge) ที่ชัดเจน และแน่นอนในการเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่เวียงจันทน์ (Vientiane Logistic Park-VLP) เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถวางแผนได้ล่วงหน้า การค้าขายทางระบบรางจะเพิ่มขึ้น
- ในด้านถนน นายกรัฐมนตรีขอให้ฝ่ายลาวพิจารณาให้รถบรรทุกหัวลากตู้คอนเทนเนอร์ของไทยขนส่งสินค้าเข้าไปใน สปป.ลาว ได้เหมือนช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19
ขณะที่ด้านพิธีการศุลกากร นายกรัฐนตรีขอให้ทั้งสองฝ่ายเร่งรัดการจัดตั้ง Common Control Area (CCA) ที่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) เพื่อช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการทั้งสองฝ่าย
ปัญหาหมอกควันข้ามแดน ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ และเห็นพ้องเร่งรัดการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม (Joint Action Plan) ระหว่าง 3 ประเทศ (ไทย-สปป.ลาว-เมียนมา) ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ ไทยมีแผนสนับสนุน สปป.ลาว ในการจัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงการเกิดไฟป่า (Fire Risk Map) และการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหน่วยงานของทั้งสองฝ่ายจะประสานงานกันอย่างใกล้ชิดต่อไป
ด้านพลังงานสะอาด นายกรัฐมนตรีสนใจซื้อพลังงานสะอาดจากลาวเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่ขยายตัว
ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นการหารือ นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามเอกสารสำคัญ และส่งมอบโครงการต่างๆ ดังนี้
1) พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกระทรวงวัฒนธรรม กับกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สปป.ลาว
2) พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือสำหรับการให้ความร่วมมือทางวิชาการในรูปแบบการเสริมสร้างขีดความสามารถสำหรับการฝึกพนักงานขับรถไฟและพนักงานจำหน่ายตั๋ว และการจัดทำแผนธุรกิจให้กับรถไฟแห่งชาติลาว (Record of Discussions between NEDA and Lao National Railway for the Technical Assistance for the Capacity Building for Locomotive Driving and Ticketing System and Development of a Business Model for the Lao National Railway)
3) พิธีส่งมอบสวนรุกชชาติมิตรภาพเพื่อฉลองครบรอบ 70 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตราชอาณาจักรไทย-สปป.ลาว
4) พิธีส่งมอบศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่โรงเรียนเทคนิควิชาชีพแบบผสม แขวงอัตตะปือ
จากนั้น นายเศรษฐา ได้เข้าเยี่ยมคารวะ นายทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศ สปป.ลาว และเลขาธิการใหญ่คณะบริหารงานศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว โดยหารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ความเชื่อมโยงคมนาคมขนส่ง ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา มาตรการป้องกันอาชญากรรมและยาเสพติดข้ามชาติ รวมถึงปัญหาหมอกควันข้ามแดน ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้ย้ำว่าไทยพร้อมสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของ สปป.ลาว ในปีหน้าด้วย
ส่วนการหารือกับนายไซสมพอน พมวิหาน ประธานสภาแห่งชาติ สปป.ลาว ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการกระชับความร่วมมือระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติของทั้งสองประเทศให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นเพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-สปป.ลาวในอนาคต
หลังเสร็จสิ้นการหารือ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานร่วมพิธีเปิดสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) กับนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลสองประเทศ
สถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) ตั้งอยู่ใกล้ใจกลางเวียงจันทน์ ห่างจากย่านธุรกิจของเวียงจันทน์เพียง 6 กิโลเมตร และห่างจากสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (ลาว - จีน) ประมาณ 15 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มช่องทางการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างจังหวัดหนองคายกับนครหลวงเวียงจันทน์ให้สะดวกมากยิ่งขึ้นในอนาคต