บอร์ดอีวี ไฟเขียวมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (EV3.5) ในช่วง 4 ปี (67-70) เดินหน้าสู่เป้าหมาย 30@30 ภายในปี 73 ผลักดันไทยขึ้นแท่นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอันดับหนึ่งของภูมิภาค และ 10 อันดับแรกของโลก เผยความสำเร็จโครงการระยะแรก ยอด 9 เดือน มีรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจดทะเบียนใหม่ เติบโต 7.6 เท่า สร้างการลงทุนกว่า 61,000 ล้านบาท
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เปิดเผยว่า บอร์ดอีวีชุดใหม่ซึ่งมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธาน ได้ให้ความสำคัญในการผลักดันให้ไทยเป็นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค ตามนโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าหมายการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด ภายในปี 73 คิดเป็นกำลังการผลิตรถยนต์ประมาณ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ประมาณ 675,000 คัน
ทั้งนี้ บอร์ดอีวีได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ในช่วงระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2567-2570) เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ๆ และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนที่ครอบคลุมทั้งรถยนต์นั่ง รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ EV3 สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการใหม่นี้เพิ่มเติมได้ โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของแต่ละมาตรการด้วย
สำหรับมาตรการ EV 3.5 รัฐจะให้เงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ตามประเภทของรถ และขนาดของแบตเตอรี่ ดังนี้
- กรณีรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุนระหว่าง 50,000-100,000 บาท/คัน สำหรับขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุนระหว่าง 20,000-50,000 บาท/คัน
- กรณีรถกระบะไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุนระหว่าง 50,000-100,000 บาท/คัน
- กรณีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 150,000 บาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 kWh จะได้รับเงินอุดหนุนระหว่าง 5,000-10,000 บาท/คัน
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหารือร่วมกัน เพื่อกำหนดอัตราเงินอุดหนุนที่เหมาะสม และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป
นายนฤตม์ กล่าวว่า มาตรการ EV 3.5 จะมีการลดอากรนำเข้าไม่เกิน 40% สำหรับการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูป (CBU) ในช่วง 2 ปีแรก (พ.ศ.2567-2568) กรณีเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และลดอัตราภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท
โดยได้ตั้งเงื่อนไขกระตุ้นการลงทุนในประเทศ ให้ผู้ได้รับการสนับสนุนผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้าภายในปี 69 ในอัตราส่วน 1 : 2 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน) และจะเพิ่มอัตราส่วนเป็น 1 : 3 ภายในปี 70 พร้อมทั้งกำหนดให้แบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปที่นำเข้า และผลิตในประเทศไทยจะต้องได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานตามมาตรฐานสากลจากศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC)
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้กรมสรรพสามิตขยายเวลาการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV 3 จากเดิมที่ต้องจดทะเบียนภายในวันที่ 31 ธ.ค. 66 ให้ขยายเวลาเป็นต้องจำหน่ายภายในวันที่ 31 ธ.ค. 66 และต้องจดทะเบียนภายในวันที่ 31 ม.ค. 67 เพื่อให้ผู้บริโภคที่จะตัดสินใจซื้อยานยนต์ไฟฟ้าภายในงาน Thailand International Motor Expo ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนธ.ค. 66 ยื่นจดทะเบียนได้ทันภายในเดือนม.ค. 67
"มาตรการ EV 3.5 ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทย ที่ต้องการผลักดันให้เกิดความต่อเนื่องของนโยบายในการสนับสนุนให้ไทยเป็นฮับยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค และดึงนักลงทุนรายใหม่ให้เข้ามาตั้งฐานผลิตในประเทศ รวมถึงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการรายเดิมเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับฐานการผลิตยานยนต์ของประเทศไทย และทำให้ไทยสามารถรักษาความเป็นผู้นำด้านยานยนต์อันดับ 1 ในอาเซียน และ 1 ใน 10 ของโลก รวมทั้งสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการลดก๊าซเรือนกระจก และก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ.2050" นายนฤตม์ กล่าว
สำหรับมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะแรก หรือ EV 3 ในปี 65 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนฯ แล้ว รวมทั้งสิ้น 13 แบรนด์ จาก 15 บริษัท ทั้งในประเภทรถยนต์นั่งไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า สร้างผลสำเร็จในการกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย. 66) มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่จำนวน 50,340 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 7.6 เท่า และนับตั้งแต่มีการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่ปี 60 ได้ก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า มูลค่ารวม 61,425 ล้านบาท จากโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ การผลิตชิ้นส่วนสำคัญ รวมถึงสถานีอัดประจุไฟฟ้า