นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ ภายใต้หัวข้อ "การปฏิรูปเศรษฐกิจไทยท่ามกลางวิกฤตรอบด้าน" (Reformation of Thai Economy Amidst Polycrisis) ระบุว่า ช่วงเวลาหลายปีมานี้ไทยได้เผชิญกับปัญหาที่หลากหลาย ทั้งปัญหาเศรษฐกิจโลกซบเซา การแพร่ระบาดของโรคติดต่อ การพัฒนาด้านเทคโนโลยี ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
นอกจากนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจีดีพีของไทยเติบโตโดยเฉลี่ยเพียง 1.8% ต่อปี หนี้ครัวเรือนยังเพิ่มขึ้นจาก 76% ในปี 55 เป็น 91.6% ในปี 66 รวมถึงเศรษฐกิจไทยจึงยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากผลกระทบของโรคโควิด-19 และการส่งออกหดตัวลง จากอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยสูงเพราะต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานสูงขึ้น รวมทั้งการแข่งขันระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์และสินค้าเกษตร
ดังนั้น ทำให้ไทยต้องแสวงหาหนทางสู่อนาคตเพื่อเติบโตท่ามกลางโลกที่มีการแข่งขันสูง ความขัดแย้งระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงระเบียบโลก รวมถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อมนุษยชาติ
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เร่งด่วนของรัฐบาล คือการทำให้เศรษฐกิจกลับมาเดินหน้า และเตรียมพร้อมประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จในระยะยาว ผ่านการลดค่าครองชีพ ส่งเสริมการใช้จ่ายภายในประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างโอกาสให้คนไทย และขยายการลงทุนและธุรกิจ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ซึ่งนโยบายที่เป็น Quick wins รัฐบาลได้ดำเนินการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ระงับการชำระหนี้ชั่วคราวสำหรับเกษตรกร และอยู่ในขั้นตอนของการพักหนี้ให้ SMEs ที่ได้รับผลกระทบในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นอีกประการหนึ่ง คือ นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่สำคัญ ช่วยเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน และเพิ่มการผลิตสินค้า นำไปสู่การจ้างงานและการสร้างงาน ตลอดจนการหมุนเวียนและการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ รัฐบาลยังเริ่มกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านโครงการฟรีวีซ่า สำหรับนักท่องเที่ยวจากจีน ไต้หวัน คาซัคสถาน และอินเดีย รวมถึงประเทศอื่นๆ ในอนาคตด้วย รวมทั้งยังมีแผนที่จะส่งเสริมความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของสถานที่จัดประชุมและนิทรรศการระดับภูมิภาค
สำหรับมาตรการระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลวางแผนดำเนินการ อาทิ
1. การทูตทางเศรษฐกิจเชิงรุก เพื่อเปิดประตูสู่ตลาดใหม่สำหรับสินค้าและบริการของไทย รวมถึงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและระเบียงเศรษฐกิจทั่วประเทศ
2. การเร่งการเจรจา FTA และ Visa Free สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางไทย
3. การเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกิจและสิทธิประโยชน์ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
4. การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมไฮเทค อุตสาหกรรมสีเขียวและอุตสาหกรรมด้านความมั่นคง เน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย
นอกจากนี้ รัฐบาลยังวางแผนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สนามบิน เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศและการท่องเที่ยว โดยอีกหนึ่งโครงการที่สำคัญ คือ โครงการ Land bridge เพื่อเชื่อมต่อทะเลอันดามันกับอ่าวไทย ลดระยะการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ให้ประเทศไทย เพื่อเป้าหมายทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคภายในทศวรรษนี้
นายกรัฐมนตรี ยังประกาศความพร้อมของรัฐบาลในการเปลี่ยนประเทศไทยจากผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีกำไรต่ำและเน้นสินค้าเกษตร ไปสู่ประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีมูลค่าสูง ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายนี้จำเป็นต้องบูรณาการเทคโนโลยี เพื่อปรับปรุงการผลิตทั้งหมดของผลิตภัณฑ์และบริการที่มีมูลค่าสูง ซึ่งอุตสาหกรรม S-curve ในอนาคตที่รัฐบาลวางแผน ได้แก่
- อุตสาหกรรม EV โดยรัฐบาลมีเป้าหมายเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทาน EV ที่ครอบคลุมทั้งรถยนต์ไฟฟ้า จักรยานไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า รวมถึงชิ้นส่วนและส่วนประกอบ ซึ่งรัฐบาลจะออกมาตรการยกระดับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเพื่อดึงดูดนักลงทุน ให้สิทธิพิเศษในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จัดตั้งศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ ออกแบบหลักสูตรด้านวิชาการเพื่อพัฒนาแรงงานให้มีทักษะ และขยายสถานีชาร์จไฟฟ้า เพื่อเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางห่วงโซ่อุปทานการผลิต EV ที่ครอบคลุมในอาเซียน
- อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ผ่านการวางแผนที่จะยกระดับการลงทุนต้นน้ำ โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ระดับโลกและทันสมัย รวมถึงวางแผนที่จะเพิ่มทักษะแรงงานไทย เพื่อเสริมสร้างนักพัฒนา และส่งเสริมระบบนิเวศที่เหมาะสมในการผลิต ทั้งไมโครชิป ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับ EV และแผงวงจรไฟฟ้าขั้นสูง
- อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Automation) รัฐบาลจะส่งเสริมการลงทุนในการผลิตและบริการด้านหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ การรวมระบบ (system integration) และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยมีผลิตภัณฑ์เป้าหมายคือ ระบบการคลังสินค้าอัตโนมัติ หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ และหุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงาน (collaborative robot) ที่สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้
- อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพทั้งในภูมิภาคและโลก พร้อมทั้งวางแผนที่จะขยายการวิจัยและพัฒนาทางการแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์
ส่วนอาหารแปรรูป รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเพิ่มมูลค่าการส่งออกอาหารของไทย โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับการผลิตอาหารและสินค้าเกษตรด้วยการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งรวมถึงการวิเคราะห์สภาพดินที่ครอบคลุม การจัดการน้ำและการทำฟาร์มที่มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ เป้าหมายของรัฐบาล คือ การเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรไทย 3 เท่า ภายใน 4 ปีข้างหน้า พร้อมวางแผนขยายตลาดอาหารนวัตกรรมแห่งอนาคต เช่น อาหารจากพืชที่มีโปรตีนสูง และผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากเนื้อสัตว์
ในส่วนของการรับมือกับความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลก นายกรัฐมนตรี ยืนยันเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการแสวงหาสันติภาพและการไม่แบ่งแยก โดยไทยจะรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกสมาชิกในประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งนับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินความสัมพันธ์เชิงรุกและเสริมสร้างความสัมพันธ์กับพันธมิตรที่สำคัญของไทยในทุกภูมิภาค และเชื่อว่านโยบายต่างประเทศที่เป็นกลางและไม่แบ่งแยกของไทย จะส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้าและโลจิสติกส์ของภูมิภาคได้
นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ซึ่งไทยมีเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2608 ด้วยการลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล และแสวงหา "สิ่งทดแทน" โดยการเพิ่มพื้นที่ป่าและลงทุนในพลังงานหมุนเวียน พร้อมยินดีที่จะประกาศว่า ในปีที่ผ่านมาไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 15% ในภาคพลังงานและการขนส่ง นับเป็นโอกาสดีที่ไทยและภาคเอกชนจะร่วมมือกัน เพื่อก้าวไปสู่ความยั่งยืนและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
ทั้งนี้ เชิญชวนให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุน รวมถึงส่งเสริมเทคโนโลยี องค์ความรู้ โดยรัฐบาลพร้อมทำงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงความสะดวกในการทำธุรกิจ สิทธิประโยชน์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนของภูมิภาค ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปี 66 มีการยื่นขอรับลงทุนจากบีโอไอเพิ่มขึ้น 70% จากปีก่อนหน้า โดยคิดเป็นมูลค่า 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และหวังว่าจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ดี รัฐบาลพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนเผชิญกับความท้าทายที่เกิดขึ้นทั่วโลก และนับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับทั้งภาครัฐและเอกชนที่ร่วมกันเดินหน้าไปสู่อนาคตที่ครอบคลุมและยั่งยืน และเชื่อมั่นว่า ผู้ร่วมงานทุกคนในวันนี้สามารถมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยได้
"ประเทศไทยเปิดแล้ว พร้อมรองรับการลงทุน และพร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายอย่างเต็มที่" นายกรัฐมนตรี กล่าว