นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน กล่าวภายหลังนายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และคณะผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ 14 แห่งเข้าพบเพื่อรับทราบนโยบายแรงงาน และหารือขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงานกับสมาพันธ์ฯ โดยขอให้คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ เกี่ยวกับการลาเพื่อคลอดบุตร และการจ่ายค่าทำงานในวันหยุดซึ่งเป็นวันหยุดพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)
โดยในเรื่องนี้ กระทรวงแรงงานจะนำร่างประกาศมาตรการขั้นต่ำของสภาพการจ้างงานในรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ ....) แก้ไขเพิ่มเติม บทนิยาม "วันหยุด" หมายความรวมถึงวันหยุดพิเศษตามมติ ครม. และแก้ไขเพิ่มเติมให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรโดยได้รับค่าจ้าง 98 วัน เข้าสู่ที่ประชุม ครม. ในสัปดาห์หน้า
ส่วนข้อเรียกร้องที่ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรองนั้น นายพิพัฒน์ ยืนยันว่า จะเร่งผลักดันเพื่อประกาศรับรองอนุสัญญาฉบับที่ 98 ให้ก่อนแน่นอน ส่วนอนุสัญญาฉบับที่ 87 นั้น จะต้องหารือกับหน่วยงานด้านความมั่นคง ซึ่งไม่ง่ายและต้องค่อยเป็นค่อยไปตามขั้นตอน
"สิ่งใดที่กระทรวงแรงงานเดินไปพร้อมๆ กันได้ เราจะพยายามทำให้ดีที่สุด เพื่อให้ลูกจ้าง นายจ้างอยู่ได้ทั้งสองฝ่าย ผมขอให้สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ช่วยเป็นกระบอกเสียงเจรจากับนักลงทุน โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน หรือแม้กระทั่งนักลงทุนชาวยุโรป เพื่อให้เขาหันมาลงทุนในอีอีซีมากขึ้น เป็นการเรียกความเชื่อมั่น และคลายความกังวลให้กับนักลงทุน ภายหลังโควิดคลี่คลาย เพื่อให้อุตสาหกรรมฟื้นตัวและเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้" นายพิพัฒน์ กล่าว