นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับตัวแทนชาวไร่ และรับฟังความเดือดร้อน และข้อกังวลต่างๆ จากชาวไร่อ้อย หลังจากที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้นำสินค้าน้ำตาลทรายเข้าสู่บัญชีสินค้าควบคุม ตลอดจนรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย
แต่เนื่องจาก กกร.ได้ออกประกาศให้น้ำตาลทรายกลับเข้าบัญชีสินค้าควบคุมแล้ว ก็ต้องให้เป็นสินค้าควบคุมต่อไป อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับอุตสาหกรรมนี้ จึงได้สั่งตั้งคณะทำงานบริหารความสมดุลในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล โดยมีนายยรรยง พวงราช ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นเลขานุการ มีอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงตัวแทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และชาวไร่อ้อย 4 คน ร่วมเป็นคณะทำงานด้วย
"คณะทำงานชุดนี้ จะหารือกันเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับอุตสาหกรรมทั้งระบบ ให้เกิดความยั่งยืนของอุตสาหกรรม เมื่อได้ข้อสรุปอย่างไรแล้วก็ให้เสนอมา แม้กระทั่งให้นำออกจากบัญชีสินค้าควบคุมก็พร้อมทำ แต่ต้องเป็นทางออกของทุกฝ่าย และคุยให้ครบทุกฝ่าย โดยมีระยะเวลาการทำงานไม่เกิน 1 เดือน ถ้าได้ข้อสรุปเร็วกว่านี้ได้ยิ่งดี เพื่อให้ทันกับการเปิดหีบอ้อยในเร็วๆ นี้ โดยจะประชุมนัดแรกวันที่ 6 พ.ย." นายภูมิธรรม ระบุ
ด้านนายกำธร กิตติโชติทรัพย์ นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7กาญจนบุรี กล่าวว่า จากการหารือกับ รมว.พาณิชย์ ชาวไร่อ้อยมีความพอใจในแนวทางที่ให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเจรจาหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาอ้อยและน้ำตาลทรายร่วมกัน ดังนั้น ชาวไร่อ้อยจึงมีความเห็นร่วมกันที่จะระงับมาตรการปิดโรงงานผลิตน้ำตาลทั่วประเทศ ในวันที่ 6 พ.ย.66 ไว้ก่อน เพื่อได้มีเวลาหารือดูแลราคาน้ำตาลและอ้อยร่วมกันอย่างยั่งยืน ซึ่งคาดจะได้ข้อสรุปก่อนมีการเปิดหีบอ้อยช่วงปลายเดือนพ.ย. หรือต้นเดือนธ.ค.นี้
สมาคมฯ ยืนยันว่า แม้ปีนี้ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลจะลดลงจากภาวะภัยแล้ง แต่ยังคงมีปริมาณน้ำตาลทรายเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศแน่นอน ขณะที่ต้นทุนการปลูกอ้อยของเกษตรกรอยู่ที่1,400 บาท/ตัน ซึ่งเท่ากับราคาน้ำตาลทรายที่ กก.ละ 22 บาท
ส่วนการลักลอบส่งออกตามชายแดน ยืนยันว่าทางผู้ผลิตได้มีระบบควบคุมตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางอยู่แล้วว่า ขายให้ใคร ปริมาณเท่าไร ซึ่งจะดูแลไม่ให้เกิดการลักลอบได้ระดับหนึ่ง