ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ประชุมพร้อมมอบนโยบายขับเคลื่อนการบริหารยางพารา ให้แก่ผู้บริหารระดับสูงของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดยได้ให้ทิศทางการดำเนินงานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจยาง เพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้นโยบาย "เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน"
โดยได้มอบแนวทางการยกระดับยางพารา มุ่งเน้น 3 ประเด็นหลัก คือ
1. การปรับสมดุลปริมาณยางในประเทศ โดยมอบหมายให้ กยท. ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร เช็คสต๊อกยางในประเทศ นำปริมาณยางที่มีอยู่จริงมาเปรียบเทียบ เพื่อทราบข้อมูลปริมาณยางที่ถูกต้อง และสำรวจข้อมูลสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและพื้นที่ที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน เพื่อจัดทำเป็น Big Data ใช้ในการบริหารจัดการยางให้เกิดเสถียรภาพต่อไป
2. เร่งปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย (ยางพารา) จากประเทศเพื่อนบ้าน โดยต้องดำเนินการอย่างจริงจัง และต้องมีการเพิ่มบทลงโทษที่เด็ดขาดสำหรับผู้กระทำผิด
3. ดึงภาคเอกชนร่วมลงทุนกับ กยท. ตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา โดยมุ่งที่ยางล้อรถยนต์ เพื่อใช้ในหน่วยงานราชการทุกแห่งและใช้ในประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาหารือกับหลายบริษัท รวมไปถึงการส่งเสริมใช้ยางนอกราชอาณาจักรควบคู่ไปด้วย
"เชื่อมั่นว่า ภายใต้การกำกับดูแลของผู้บริหาร กยท. จะสามารถเดินหน้าหามาตรการต่าง ๆ มาขับเคลื่อนให้ราคายางดียิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา ราคาจะขยับขึ้น แต่จะต้องดีกว่านี้ เพื่อให้ชาวสวนยางอยู่ดีกินดี ไม่มีหนี้สิน นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวสวนยางให้ดียิ่งขึ้นต่อไป" รมว.เกษตรฯ ระบุ
ด้านนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวถึงบทบาทการดำเนินงานของ กยท. ในฐานะหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบ ว่า กยท. มุ่งเน้นการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการระบบยางพาราของประเทศ ครอบคลุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันมีเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. จำนวนกว่า 1.7 ล้านราย พื้นที่สวนยางรวมกว่า 19.8 ล้านไร่
ซึ่งได้เร่งสั่งการให้ กยท. ในพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลพื้นที่สวนยาง และปริมาณยางในสต๊อก เพื่อจัดทำฐานข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งประเทศ (Big Data) ตามนโยบายของ รมว.เกษตรฯ รองรับการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ยาง (Traceability) และสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์สร้างสมดุลยาง
ตลอดจนการควบคุมปริมาณผลผลิตยาง ด้วยการจัดทำ Zoning พื้นที่กรีดยาง หยุดกรีดในพื้นที่ที่ประสบภัยทางธรรมชาติ มีโรคระบาด หรือพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม โดยชาวสวนยางจะได้รับความช่วยเหลือทั้งทางการเงินและไม่ใช่การเงิน เพื่อลดผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร
นายณกรณ์ ยังกล่าวถึงนโยบาย 1 ลด 3 เพิ่ม (R3I) ว่า ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ในการยกระดับอุตสาหกรรมยาง กยท. จึงดำเนินการมุ่งลดต้นทุนการผลิต (Reduce Cost) ด้วยการจัดสรรปัจจัยการผลิต สนับสนุนเงินกู้-เงินอุดหนุน เพิ่มผลผลิต (Increase Yield) บริหารจัดการสวนยาง ตั้งแต่พันธุ์ยาง ระบบกรีด และการจัดการโรค เพิ่มรายได้ (Increase Income) ส่งเสริมการสร้างรายได้ทางเลือกในสวนยาง เช่น ปลูกพืชอื่นเสริมหรือเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
เพิ่มมูลค่า (Increase Value) โดยการพัฒนามาตรฐานการแปรรูปยาง ด้วยการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนในการวิเคราะห์ผลผลิต ทั้งนี้ กยท. ได้ดำเนินงานและขับเคลื่อนภารกิจต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสวนยางให้มีความยั่งยืน โดยเน้นให้ความสำคัญในการสร้างความเข้มแข็ง และยึดถือผลประโยชน์ของชาวสวนยางเป็นหลัก โดยมีโครงการสำคัญ เช่น โครงการชะลอการขายยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง เป็นต้น
"กยท. จะเร่งขับเคลื่อนการบริหารจัดการยางให้ครอบคลุมทุกมิติ ควบคู่ไปกับการกระตุ้นให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการแปรรูปยาง เพื่อขยายโอกาสด้านการแข่งขัน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นกับยางพาราทั้งระบบ อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน" ผู้ว่าการ กยท. กล่าว